งานศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการทำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เองบ้าง ขายบ้าง ตกทอดกันมา บ้างก็มีการปรับแบบเปลี่ยนสไตล์ตามยุคสมัย บ้างก็ยังคงความเป็นดั้งเดิมของชิ้นงาน แต่ทุกอย่างก็อยู่บนพื้นฐานของทักษะความชำนาญบนความเคยชิน และด้วยความคุ้นเคยกับของที่มีที่เห็นอยู่เป็นประจำ เรื่องใกล้ตัวจึงเป็นความไกลตา ไม่ได้รู้สึกว่าจะทำอะไรกับมันต่อไปได้
นั่นเป็นเหตุผลที่ต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มงานศิลปหัตกรรมอันทรงคุณค่า แต่ครั้งนี้ แตกต่างกว่าหลายๆ โครงการที่เคยเห็น เพราะออกแบบและพัฒนาออกมาแล้ว จำเป็นจะต้องผลิตเพื่อจำหน่ายให้ได้จริงๆ ด้วย
การจะทำให้ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ขายสินค้าได้ เดิมทีก็ต้องทำสินค้าเข้าไปเสนอช่องทางการจำหน่าย หรือรอให้ผู้ซื้อมาเจอ แต่ในโครงการ Craft Co-Creation สร้างทางลัดขึ้นมาเลยว่า จะให้ผู้ขาย เข้ามามีส่วนในการออกแบบและผลิตสินค้าด้วยกันเลย
เมื่อไม่นานมานี้ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรม “สรุปผลการดำเนินโครงการร่วมรังสรรค์ศิลปหัตถกรรม (Craft Co-Creation)” ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โดยมีคุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธาน และคุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คุณเพ็ญศิริ ปันยารชุน ผู้จัดการสายงานยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ ร่วมงาน
การแสดงผลงานในครั้งได้นำมีการเสนอแนวทางการพัฒนาต่อยอดโครงการจากตัวแทนจากกลุ่มเข้าร่วมโครงการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักออกแบบ คุณศรันย์ เย็นปัญญา คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง ดร.กฤษณ์ เย็นสุขใจ และ คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (Exotic Thai/สยามพารากอน) ร้าน Room Concept Store บริษัท ดินไฟ จำกัด และ บริษัท บันยันทรีโฮลดิ้ง จำกัด
คุณอัมพวัน กล่าวว่า โครงการร่วมรังสรรค์ศิลปหัตถกรรม หรือ Craft Co-Creation เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนา งานหัตถกรรมของ SACICT ที่ต้องการพัฒนางานหัตถศิลป์ไทยให้สอดรับกับยุคปัจจุบันและเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ในอนาคต โดยเกิดจากการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ รวมถึงทักษะการผลิต การหาช่องทางการตลาดใหม่ๆระหว่างบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครูช่างศิลปหัตถกรรม นักออกแบบ และผู้ประกอบการ มุ่งหมายให้เกิดการทำงานร่วมกันตั้งแต่กลุ่มคนด้านการผลิตจนถึงด้านการตลาด ซึ่งทำให้ผู้ผลิตได้ทำงานร่วมกับนักออกแบบ
“นักออกแบบเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงด้านการตลาด เรียกว่าเปลี่ยนมุมมองความคิดของการทำงานของชุมชน เรานำกลุ่มผู้ประกอบการ ค้าขาย งานหัตถกรรมมาทำงานตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้การออกแบบและการผลิตสอดคล้องกับการตลาด
การทำงานนี้ถือเป็นการตอบโจทย์การทำงานคราฟท์เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง คาดหวังให้งานที่ผ่านการพัฒนาขององค์กร ไม่ว่าจะทำงานกับชุมชน นักออกแบบหรือใครก็ตามสามารถไปถึงตลาดได้อย่างจริงจังและมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นต้นแบบในการจำหน่ายต่อไป เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่า การพัฒนาโดยนำองก์ความรู้มาต่อยอดนี้ ก่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดตลอดเวลา”
ผลิตภัณฑ์ทั้งสี่ภาคที่นำไปพัฒนากับชุมชน เริ่มจากโจทย์ที่ว่า กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดคือใคร เช่นกลุ่มบันยันทรี กลุ่มเดอะมอลล์ เมื่อเรารู้ตลาดแล้ว ก็รับสมัครกลุ่มผู้ทำงานหัตถกรรมซึ่งเป็นสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศฯ อาจจะเป็นครูช่าง ทายาท หรือชุมชนก็เป็นการแมทช์กัน เป็นการแมทช์กันระหว่างกลุ่มผู้ที่ต้องการพัฒนาและกลุ่มที่อยากเห็นชิ้นงานเหล่านั้น ส่วนใหญ่นักออกแบบที่มาร่วมงานเป็นกลุ่มที่ได้รับรางวัล ICA ของ SACICT อยู่แล้ว มีความคุ้นเคยกับงานหัตถกรรม ดังนั้นเมื่อสามหน่วยมาเจอกันก็จะเป็นการผสมผสานทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือเป็นกลุ่มผ้าทอดั้งเดิมของชนเผ่า เบญจรงค์ภาคกลาง งานจักสานภาคกลางและภาคใต้
ในการทำงานช่วงแรกอาจมีปัญหาบ้าง เนื่องจากคนทำงานหัตถกรรมในชุมชนจะคุ้นเคยกับงานแบบเดิมๆ แต่เราได้นำนักออกแบบและกลุ่มผู้ซื้อลงพื้นที่ไปด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน โดยการทำงานจะทำต้นแบบออกมาเพื่อวิเคราะห์ ทั้งต้นแบบ รายละเอียดของเนื้องาน มีการปรับปรุงการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ
“สิ่งที่ต้องการจริง ๆ คือทำอย่างไรให้ชุมชนเข้าใจว่า การนำเอาแนวความคิดหรือนวัตกรรมทางความคิดหรือการคิดนอกกรอบ เป็นหัวใจของการพัฒนางานหัตถกรรม โดยใช้องค์ความรู้ที่เขามีเป็นตัวตั้ง”
สำหรับ 4 คอลเล็คชั่น จาก 4 ภาค ประกอบด้วย
ภาคกลาง : BENJAMIN COLLECTION ผลิตภัณฑ์จากภาคกลาง ผลงานการออกแบบ ของ ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ ร่วมกับทาง “ดินไฟ” ทำงานร่วมกับชุมชนหัตถกรรม หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ชุมชนผ้าไหมบ้านครัว กรุงเทพฯ โดยได้ผสมผสานงานออกแบบอุตสาหกรรมกับงานช่างฝีมือ ปรับลวดลายดั้งเดิมด้วยการตัดทอนให้มีความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ด้วยเฉดสีที่มีความทันสมัย
นางณิฐ์ภาวรรณ แตงเอี่ยม ทายาทครูช่าง หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี กล่าวถึงขั้นตอนงานว่า การใช้สีซึ่งไม่หนักเกินไปเป็นสีพาสเทล ซึ่งเหมาะกับสมัยปัจจุบันวัยรุ่นทั่วไปหาซื้อได้ แต่ยังคงการลงสีโดยใช้พู่กันตามแบบสมัย ร.2 โดยนำลวดลายของลายเทพพนมนรสิงห์ ซึ่งเป็นลายเริ่มแรกของเบญจรงค์และนำช่อไฟ ซึ่งอยู่ในลวดลายเทพพนมนรสิงห์มาทำให้ดูมีช่องว่างขึ้นไม่แน่นจนเกินไป และได้นำน้ำทองซึ่งมีมาในสมัย ร.5 มาใส่ลายช่อไฟ เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวบนสีที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นและอ่อนหวานขึ้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ไทเลย คอลเลคชั่น โดยนักออกแบบ คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง ร่วมกับทาง “รูม คอนเซ็ปต์ สโตร์” เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในภูมิปัญญากลลุ่มจักสานไทเลยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยและการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ โคมไฟ กระจกตั้งโต๊ะ โดยทำงานร่วมกับ กลุ่มจักสานไทเลย จังหวัดเลย
ภาคเหนือ : EXOTIC POP COLLECTION โดยนักออกแบบ “คุณศรันย์ เย็นปัญญา” ร่วมกับทางเดอะมอลล์ เป็นการนำเสน่ห์ของกาทอผ้าพื้นเมือง ผ้าชาวเขา มาดัดแปลงเป็นสินค้าของคนเมืองที่มีวิถีชีวิตวุ่นวาย โดยให้เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยการทำงานในครั้งนี้ ได้ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหัตถกรรมบ้านดอนหลวง จังหวัดลำพูน กลุ่มทอผ้าชาวกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ และ พ่อครูดิเรก สิทธิการ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ศ.ศ.ป. พ.ศ.2554 (ดุนโลหะ) จังหวัดเชียงใหม่ จนได้กระเป๋าผ้าหลากหลายรูปแบบ ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ในรูปแบบทันสมัย ใช้ฝีมืองานทอผ้า งานช่างดุนโลหะ มาเป็นสินค้าที่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
ภาคใต้ : ROOT COLLECTION โดยนักออกแบบ “คุณศุภชัย แกล้วทนงค์” ร่วมกับทาง “บันยันทรีโฮลดิ้ง” นำเสนอคอลเล็คชั่นภายใต้แนวคิด Root ซึ่งหมายถึงราก เพราะรากคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแรง และความสมบูรณ์ โดยได้ทำงานร่วมกับชุมชนกรงนกบ้านในด่าน กลุ่มทอหางอวน และ กลุ่มจักสานใบกระพ้อ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเป็นงานที่ผสมผสานงานฝีเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ เป็นโคมไฟ กรอบกระจก งานศิลปะติดฝาผนัง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน และตรงความต้องการของตลาด เป็นอีกคอลเล็คชั่นที่คาดว่าจะได้ตอบรับในเชิงพาณิชย์เช่นกัน
เป็นอีกโครงการที่เอาจริงกับการพัฒนาและต่อยอดสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยการประสานการทำงานของทั้ง 3 ฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อผลของการสืบสานภูมิปัญญาไทย และส่งต่อให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นที่ยอมรับ เลือกซื้อเลือกใช้ของคนในวงกว้าง
ได้ใช้ ได้ชม อย่างภาคภูมิใจ และอวดใครๆ ได้ด้วย ว่านี่คือหนึ่งการเลือกใช้สินค้าอย่างมีรสนิยม