ดื่มได้ ดื่มดี ดื่มแค่ไหน ดื่มอย่างไร ร่วมไข 6 ข้อสงสัยคาใจคอกาแฟ

39

กาแฟเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของคนไทย ไม่ว่าจะในยามเช้าที่ต้องการความกระปรี้กะเปร่า ยามบ่ายที่อยากพักสายตาละสมองมาสร้างไอเดียใหม่ๆ หรือแม้แต่ทุกช่วงของการเดินทาง โต๊ะเจรจาทางธุรกิจ งานประชุมสัมมนา หรือแม้แต่การนัดพบของกลุ่มเพื่อนฝูง รวมทั้งการใช้เวลากับตัวเองพร้อมกาแฟถ้วยโปรดในวันพักผ่อน  

แต่กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มที่มักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลดีหรือผลเสียมานาน  เพราะนอกจากสามารถหาดื่มได้ง่ายและเป็นเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งรสชาติได้หลากหลายตามใจผู้บริโภคแล้ว การดื่มกาแฟยังกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอีกด้วย จึงทำให้กาแฟได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก

ส่วนประกอบของ “กาแฟ” ที่มีผลต่อสุขภาพคือ “คาเฟอีน” และ “สารต้านอนุมูลอิสระ” ซึ่งเป็นสารที่คอยปกป้องเซลล์ในร่างกายของเราให้ปลอดภัยจากสารพิษ หรือการอักเสบ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระนี้มักจะอยู่ในกาแฟชนิด “อาราบิก้า” แบบที่ไม่ได้กรองกากกาแฟ ส่วนคาเฟอีนนั้นพบได้ในกาแฟทุกรูปแบบ

วันนี้จึงขอไขข้อสงสัยจาก “กาแฟ” ในแง่มุมของผลต่อสุขภาพให้มากขึ้น จากข้อมูลโดย ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด

1.การดื่มกาแฟช่วยให้เราอายุยืนขึ้นจริงหรือไม่?

มีงานวิจัยตีพิมพ์ใน  Annals of Internal Medicine แนะนำว่า การดื่มกาแฟ 3 ถ้วยต่อวัน อาจสามารถยืดอายุของเราให้ยาวขึ้นได้ เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟเช่นนี้นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคหัวใจน้อยลง โดยการศึกษานี้รวบรวมกลุ่มผู้เข้าร่วมงานวิจัยได้ถึง 500,000 คนจาก 10 ประเทศในทวีปยุโรป ยาวนานถึง 16 ปี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ในงานวิจัยนี้ไม่ได้แยกแยะผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐานะทางสังคม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังตัดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างออกไปด้วย จึงทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่มักจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้วนั่นเอง

2.การดื่มกาแฟช่วยเพิ่มพลังและความสดชื่นให้เราได้จริงหรือไม่?

กาแฟช่วยให้ผู้ดื่มหลายคนรู้สึกไม่เหนื่อยล้าและสดชื่นมากขึ้น อันเนื่องมาจากสารคาเฟอีนนั่นเอง เมื่อสารคาเฟอีนเข้าสู่กระแสเลือดและสมองในขนาดที่เหมาะสม จะออกฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ประสาทให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทั้งในด้านความจำ อารมณ์ และการเรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกจากนี้ มีบางงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟในขนาดที่เหมาะสมก่อนออกกำลังกาย จะช่วยให้ออกกำลังกายได้ดีและนานขึ้นถึงร้อยละ 11-12 เลยทีเดียว

3.การดื่มกาแฟลดความอ้วนได้หรือไม่?     

มีงานวิจัยพบว่า สารคาเฟอีนในกาแฟนั้นสามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญสารเคมีในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่ากาแฟนั้นน่าจะสามารถช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายได้  จึงอาจนำไปสู่การใช้การดื่มกาแฟในการลดความอ้วนได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องรอผลสรุปจากงานวิจัยอื่นๆ เพิ่มเติม

4.การดื่มกาแฟมีผลอย่างไรต่อโรคในระบบประสาท?

มีหลายงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟสามารถช่วยปกป้องเราจากโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของระบบประสาท ยกตัวอย่างเช่น โรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ โดยงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาวเอเชียเหมือนกับบ้านเราพบว่า ในคนญี่ปุ่นกว่า 8,000 คน คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ พบการเกิดโรคพาร์กินสันน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มถึง 5 เท่า โดยมีการเก็บข้อมูลนานถึง 30 ปี แต่ข้อเท็จจริงนี้ใช้ได้กับผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศในผู้หญิง (เอสโตรเจน) จะไปแย่งกันเกิดปฏิกิริยากับคาเฟอีน หรือสตรีวัยทองที่กลับไปรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะพบว่าเกิดเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าคนที่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนนี้ ในทางการแพทย์สันนิษฐานว่า คาเฟอีนจะไปทำให้สารสื่อประสาท โดปามีน ถูกขนส่งไปออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

5.การดื่มกาแฟลดการเกิดโรคเบาหวานได้จริงหรือไม่?

มีงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟทำให้มีโอกาสการเกิดโรคเบาหวานลดลง โดยพบว่าคนที่ดื่มกาแฟ 6-7 ถ้วยต่อวัน พบโรคเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม โดยเชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟ เป็นตัวทำให้การดื้ออินซูลินลดลง ทำให้ไม่ค่อยพบโรคเบาหวาน และสารต้านอนุมูลอิสระนั้นคือ phenolic chlorogenic acid

6.เราดื่มกาแฟได้มากเท่าไหร่และกาแฟมีอันตรายหรือความเสี่ยงใดๆ ต่อสุขภาพหรือไม่?            

ยังไม่มีข้อกำหนดหรือข้อห้ามใดๆ สำหรับปริมาณกาแฟที่ควรดื่มสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะมีรายงานว่ามีการแท้งมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ดื่ม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าลูกที่เกิดมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยและตัวเล็กกว่าอายุครรภ์อีกด้วย  สารคาเฟอีนมีฤทธิ์คล้ายยาขับปัสสาวะ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มกาแฟปัสสาวะมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งมีรายงานว่าในผู้ที่ดื่มกาแฟมากๆ บางครั้งอาจเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม มือสั่น และนอนไม่หลับได้ หากเกิดอาการเช่นนี้บ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ นอกจากนี้ กาแฟมักได้รับการปรุงแต่งอย่างหลากหลาย อาจมีการเติมน้ำตาล น้ำเชื่อม นม และอื่นๆ ซึ่งอาจมีผลในการเพิ่มแคลอรี่ส่วนเกินให้ผู้ดื่มได้มาก ผู้ดื่มที่มีโรคประจำตัวที่อาจได้รับผลกระทบควรคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

เพียงเท่านี้ คอกาแฟก็สามารถกำหนดปริมาณการดื่มในแต่ละวันได้ง่ายๆ ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดี หรือสามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com