อุตรดิตถ์ปลูกกระเทียมปลอดสารเคมี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ดีต่อใจ

199

กระเทียมเป็นผักสวนครัวที่มีประโยชน์นานาประการ และต้องใช้กันแทบทุกครัวเรือนในทุกวัน หลายบ้านมีการปลูกกระเทียมไว้รับประทานเอง พร้อมกับผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อความมั่นใจว่า ผักสวนครัวของเราจะไม่มีสารเคมีเจือปน ขณะเดียวกันหลายหน่วยงาน ก็มีการให้ความรู้สำหรับเกษตรกร เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปลูกกระเทียมปลอดสารเคมี ที่มีประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ และลดต้นทุนในการทำการเกษตร พร้อมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ (คณะ 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ดำเนินงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อมประสานและบูรณาการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นสุขภาพต่างๆ ของประชาชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น และยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนและผลักดันมาตรการสำคัญด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

ล่าสุดได้ลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งผลที่ได้รับคือ เกิดชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ และหน่วยจัดการระดับจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดอุตรดิตถ์ที่เข้มแข็ง มีแนวทางการดำเนินงาน วิธีการสานพลังเครือข่ายในพื้นที่จนเป็นพลังสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากการขับเคลื่อนโครงการด้านสุขภาพในพื้นที่

นางเข็มเพ็ชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 -2561 สสส. สนับสนุนโครงการ 146 โครงการ ใน 65 หมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน 77 กลุ่ม เกิดพื้นที่ที่มีผลลัพธ์เชิงประเด็นที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ หมู่บ้านพงสะตือ และหมู่บ้านต้นขาม มีกลไกสภาผู้นำเข้มแข็งสู่การเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการกระจายโอกาสให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน หมู่บ้านในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านการสนับสนุนโครงการปฏิบัติการด้านการสร้างเสริมสุขภาพรายย่อย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. โครงการเปิดรับทั่วไป 2. โครงการประเด็นเฉพาะ 3. โครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก และ 4. กิจกรรมอย่างง่ายสำหรับเด็กเยาวชน

โดยสสส. วางกลไกการขับเคลื่อนงานให้มี “หน่วยจัดการ (Node)” เป็นกลไกหลักที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้แก่โครงการรายย่อย ให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมาย เกิดเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการดำเนินของชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ พัฒนาทักษะวิธีคิดและเพิ่มขีดความสามารถแก่ภาคีเครือข่ายในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เกิดการขยายผลการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป      

ด้าน  รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์  รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 สสส. กล่าวว่า หมู่บ้านพงสะตือมีการใช้สารเคมีในการเกษตร รวมถึง 190 ครัวเรือน จาก 191 ครัวเรือน ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เกิดกระบวนการจัดการชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือเข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ในปี 2560 เกิด “สภาผู้นำชุมชน” กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานประเด็นการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อบริโภคในครัวเรือนสำเร็จ 58 คน มีมติของชุมชนในการปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน 110 ครัวเรือน จากทั้งหมด 191 ครัวเรือน และขยายผลสู่กลุ่มผู้ปลูกกระเทียมปลอดสารพิษ ร้อยละ 100 ใน 89 ครัวเรือน เกิดรายได้ถึง 590,150 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ลดรายจ่ายต้นทุนด้านสารเคมีได้ถึง 36,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

“โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุบ้านต้นขาม เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของ สสส. ที่มุ่งเน้นการหนุนเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชมรมผู้สูงอายุ ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุ จาก 174 คน หรือร้อยละ 20.83 แบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ 161 คน ผู้สูงอายุติดบ้าน 11 คน และผู้สูงอายุติดเตียง จำนวน 2 คน หน่วยจัดการจังหวัดอุตรดิตถ์มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพร่วมกิจกรรมทางกาย อาทิ การรำไม้พลอง รำวงย้อนยุค และการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยการนั่งสมาธิและสวดมนต์ทุกวันพระ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง ขยายผลไปสู่การรื้อฟื้นภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของท้องถิ่น ผู้สูงอายุที่ได้เข้าร่วมโครงการทุกคนจึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.นพ.อำนาจ กล่าว