ธุรกิจส่วนตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนคงเคยคิดเคยฝัน แต่หากต้องทำธุรกิจสักอย่าง จะเริ่มต้นอย่างไร แล้วจะไปทางไหน ต้องมีเงินทุนเท่าไหร่ มันจะเป็นได้หรือไม่ แล้วใครจะซื้อกันหนอ คิดแค่นี้ก็ปวดหัว จนหลายคนยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มคิด ทำให้เส้นทางของผู้ประกอบการหน้าใหม่ อยู่ห่างไกลจากฝันของใครหลายคน แต่หากยังมีฝันและอยากที่จะลงมือทำ เรามีกรณีศึกษาเส้นทางของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่เคยรู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดไม่น่าเป็นไปได้ แถมบางธุรกิจก็ถูกหัวเราะใส่มาก่อน มาเล่าให้ฟัง
Betta Berry ธุรกิจปลากัดออนไลน์ ส่งขายทั่วโลก
เป็นเรื่องปกติของคนยุคนี้เมื่อทำงานประจำไปได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องการหาความมั่นคงในชีวิต เริ่มคิดถึงชีวิตหลังวัยเกษียณว่าจะหารายได้จากที่ไหนมาหล่อเลี้ยงครอบครัว เช่นเดียวกับ “ณภัทร ตาณธนพนธ์” หรือ คุณจิ๋ว ที่ทำงานโรงพิมพ์มานานกว่า 15 ปี ตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้จัดการด้านการตรวจสอบคุณภาพงานพิมพ์
อยู่มาวันหนึ่งเขามีโอกาสไปนั่งฟังสัมมนา ได้ยินคนบนเวทีบอกว่า “ขายปลากัดออนไลน์สามารถหาเงินส่งบ้านส่งรถได้”
ฟังแล้วเขาก็รู้สึกว่า จะเป็นไปได้จริงๆ หรือไม่ จึงตัดสินใจเข้าอบรมกับกรมประมงเรื่องการขายสัตว์น้ำออนไลน์ เมื่อได้ความรู้ วันรุ่งขึ้นก็ลอง เริ่มจากลงทุนซื้อปลากัดตัวละ 30 บาท โหลสำหรับถ่ายรูปปลา 5 ใบ โดยใช้โทรศัพท์มือถ่าย เรียกว่าเป็นการลงทุนเพียงหลักร้อย แล้วก็ลองโพสต์ขาย
ปรากฎว่า มีปลากัดตัวหนึ่ง ลูกค้าชาวเดนมาร์กขอซื้อไปในราคา $36 USD เขาจึงรู้สึกได้เลยว่ามันเป็นไปได้! คุณจิ๋ว จึงเลือกผันตัวเองสู่อาชีพเกษตรกร เน้นการทำตลาดปลากัดอย่างจริงจัง ทำให้ประสบความสำเร็จจากการขายปลากัด มียอดขายสูงถึง 50,000-80,000 บาทต่อเดือน
หลังจากนั้น เขาก็โชคดีได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ในกรมประมง ให้ไปร่วมออกบูธในงานริมคลองผดุงฯ จึงได้พบกับ ผอ.สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผอ. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งชวนให้เขาเข้าร่วมกับ สสว. ตอนแรกคุณจิ๋วบอกว่า คิดว่าเราประสบความสำเร็จอยู่แล้ว คงไม่จำเป็น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าร่วมการอบรม ซึ่งคุณจิ๋วบอกว่ามีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้
“เรื่องราวที่น่าตื่นเต้น สสว.เข้ามาเติมส่วนที่เราขาด เพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้นในส่วนเป็นจุดแข็ง จนทำให้สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาทต่อเดือน จากวันที่เข้าอบรมจนถึงวันนี้ ปลากัดภายใต้ แบรนด์ Betta Berry มีผู้คนรู้จักในหลายประเทศทั่วโลก มีลูกค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญมีลูกค้าในประเทศไทยสนใจเลี้ยงปลากัดเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าจากทั่วประเทศพาไปออกบูธทั่วประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะธุรกิจไหนๆ สสว. ช่วยได้จริงๆครับ” คุณจิ๋วกล่าว
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการนั่งฟังสัมมนาแค่ครั้งเดียวในเรื่องที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนจะก่อเกิดเป็นธุรกิจได้ แถมยังสามารถส่งออกไปทั่วโลก กับสินค้ามีชีวิตตัวน้อยๆ อย่าง “ปลากัด” แต่สำหรับพนักงานประจำด้านสิ่งพิมพ์กลับทำได้ แถมยังช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากัดมายาวนานให้มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
จากแม่ค้าตลาดนัด สู่เจ้าของธุรกิจเห็ดทอดกรอบ โกอินเตอร์
“บุษญพรรณ มากมณี” หรืออ้อม วัย 30 ปีเศษๆ เจ้าธุรกิจสินค้าเห็ดทอดกรอบ แบรนด์ Veget Crisp ที่สร้างรายได้กว่า 100,000 บาทต่อเดือน และยังส่งเสริมให้ชุมชนใกล้เคียงเข้ามาเป็นเครือข่ายเพาะเห็ดนางฟ้าป้อนให้กับธุรกิจของเธอเอง จนปัจจุบันกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
อ้อมเป็นสาวแบงค์ ทำงานในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นเกษตรกรทำสวนยางและนา เพื่อดูแลครอบครัวหลังจากตัดสินใจแต่งงาน ช่วงแรกที่ทำ สวนยางกำลังรุ่งน้ำยางราคาแพง ทำให้เธอมีรายได้เป็นประจำทุกวัน ชีวิตไม่ขัดสน หลังกรีดยางเสร็จก็ไปทำนา โดยอ้อมบอกว่า เธอจะเก็บเงินจากการทำนาไว้สำหรับอนาคต
อาชีพเกษตรกรสวนยาง เป็นที่รู้กันว่า ช่วงหน้าฝนจะกรีดยางไม่ได้ ความขยันขันแข็งทำให้อ้อมเกิดไอเดีย ทำของขายในตลาด เธอเริ่มจากทำหมูปิ้งสูตรของแม่ ซึ่งเป็นชาวตรัง อ้อมขายดิบขายดีแต่เหนื่อยสาหัส วันหนึ่งจึงคิดหาสินค้าใหม่ บังเอิญเป็นคนชอบทานผักทอด ประกอบกับลูกชายไม่ชอบกินผัก แต่ถ้าทำผักทอดลูกชายจะกิน เธอจึงหันมาทำผักทอดกรอบขายในตลาดนัด เพราะคิดว่าน่าจะเหมาะกับช่วงหน้าฝนที่คนชอบกินอะไรร้อนๆ
วันแรกอ้อมลงทุนไป 2,000 บาทอุปกรณ์นำมาจากบ้าน ซื้อแต่น้ำมัน แป้งและผัก ขายหมดได้เงิน 700 บาทเธอบอกว่า ดีใจและมีความสุขมาก อ้อมเป็นแม่ค้าขายเห็ดทอดกรอบในตลาดนัดอยู่ 2-3 ปี พร้อมๆ ไปกับการกรีดยาง และทำนา
ช่วงแรกเธอใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จ แต่พอลูกค้าซื้อไปทานที่บ้าน ผักจะเหี่ยว ไม่กรอบ อ้อมจึงศึกษาคุณสมบัติแป้งชนิดต่างๆ และผสมแป้งทอดเอง ซึ่งปรับปรุงสูตรอยู่ 2 รอบจนได้แป้งทอดกรอบที่กรอบนานถึง 7 ชั่วโมง
การขายของมีความสุขเพราะได้เงินทุกวันแค่พอเป็นรายจ่ายในบ้าน ในความจริงคือขาดทุน มาตลอดเพราะไม่เคยคิดค่าแรง ค่าน้ำมันรถเลย ระหว่างขายในตลาดนัด อ้อมเคยโพสต์รูปผักทอดในเฟสบุ๊ค ทำให้เพื่อนๆที่รู้จักบอกว่าให้ทำส่งไปขาย แต่อ้อมไม่รู้วิธีการบรรจุลงถุง จึงได้แค่คิด
บังเอิญวันหนึ่ง เธอไปเจอป้ายประกาศรับสมัครผู้ประกอบการใหม่ Start up ภาคใต้ของ สสว. เธอเกิดปิ๊งขึ้นมาในใจ จึงโทรไปถามว่า “เป็นแม่ค้าตลาดนัด เข้าร่วมกิจกรรมได้ไหม” ตอนนั้นคิดแค่ว่า จะได้ส่งไปขายให้เพื่อน
เมื่อได้รับคำตอบว่า “ได้” เธอก็เข้าไปสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทันที โดยมี “ผักทอดกรอบ” เป็นสินค้าที่ตั้งใจพัฒนาเพื่อใส่ถุงส่งขายไปต่างจังหวัดได้
การเข้าร่วมกิจกรรมเธอบอกว่า ไม่ง่าย อย่างการเขียนธุรกิจ คืออะไร แม่ค้าตลาดอย่างเธอไม่มีวันรู้ แต่โครงการ ของ สสว. โดย อาจารย์วรกิตติ์ แซ่จิ้ว ประธานอาจารย์ที่ปรึกษา โครงการ SME Start up มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด จากรอบ 1 รอบ 2 มาได้จนเข้าสู่รอบ 3 ซึ่งเป็นการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ จากผักทอดกรอบ อาจารย์แนะว่า ให้เลือกทำทีละอย่างดีกว่า เธอจึงเลือกเห็ดนางฟ้าเป็นหลัก ส่วนบรรจุภัณฑ์ได้รับคำแนะนำ พร้อมวิธีการแพ็ค จากนั้นเธอก็ไปทำส่งขายให้เพื่อน จนมียอดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จู่ๆวันหนึ่งปัญหาเกิด เห็ดทอดกรอบ กลายเป็นน้ำมันเยิ้ม ไหลรั่วจากถุง เธอจึงไปปรึกษากับอาจารย์อีกครั้ง จนได้วิธีการทำให้เห็ดทอดกรอบแห้ง และใส่บรรจุภัณฑ์ได้นานไม่เหม็นหืน แต่งานนี้ความท้าทายอยู่ที่การลงทุนสั่งทำถุงที่เธอต้องเทกระเป๋า ควักเงินเก็บสะสมมาลงทุน โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ เสมอ
หลังลงทุนก้อนโตกับบรรจุภัณฑ์ เธอเริ่มทำขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนยอดตกเดือน 2-3 หมื่นบาท ระหว่างนั้นการอบรมเธอผ่านรอบ 3 ไปได้ฉลุย โดยมีท้อบ้าง แต่เธอบอกตัวเองว่าถอยไม่ได้แล้ว ต้องเดินไปข้างหน้า และก็ลุ้นว่าจะสามารถเข้าสู่รอบที่ 4 ซึ่งเป็นการแสดงสินค้าภายในงานของสสว. ได้หรือไม่ ระหว่างรอฟังคำตอบ อาจารย์บอกกับเธอว่า เห็ดทอดของเธอไม่อร่อยเลย แข็งเกินไป ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเห็ดเลย อยากให้ลองไปปรับปรุงสูตรแป้งใหม่
วันนั้นอ้อมวูบไปชั่วขณะ เพราะมั่นใจกับสินค้าของตัวเองมาตลอด แต่โชคดีที่เธอเป็นคนมุ่งมั่น และรับฟังคำวิจารณ์ ทำให้เธอกลับไปคิดค้นและพัฒนาสูตรแป้งทอดกรอบจนได้สูตรที่ลงตัว พร้อมวิธีการทอดเห็ดนางฟ้าให้กรอบ หอม อร่อย ไร้น้ำมัน ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดสรรการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีค่าความชื้นตามกำหนดเพื่อให้ผู้บริโภคได้อรรถรส ทำให้
เธอผ่านเข้าสู่รอบ 4 เกิดผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้าทอด แบรนด์ Veget Crisp ในซองทันสมัย สวยงาม พร้อมน้ำจิ้มสูตรดั้งเดิมที่อยู่ในซองเพื่อเพิ่มรสชาติที่พร้อมออกสู่ตลาดการค้า โดยมีงานแสดงสินค้าของโครงการ SME Start up เป็นด่านสุดท้ายให้เธอต้องฝ่าฝัน
อ้อมบอกว่า เธอเตรียมผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าจำนวน 500 ซองสำหรับงาน 3 วันในใจคิดว่าแค่ขายหมดก็พอใจแล้ว แต่สิ่งไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น เพราะวันแรกขายออกไปเกือบๆ 300 ซองทำให้เธอต้องรีบกลับบ้านไปผลิตสินค้าเพิ่ม จากตลาดทดลอง แต่ขายจริง 3 วัน ทำให้อ้อมขายสินค้าได้เท่ากับยอดการขายทั้งเดือนในช่วงที่ผ่านมา
นับจากวันที่เข้าร่วมอบรมกับโครงการ SME Start up จนถึงวันนี้เป็นเวลา 1 ปีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอคือ ยอดสั่งซื้อจากทั่วประเทศ รวมถึงจากต่างประเทศ อ้อมตัดสินใจลงทุนอีกครั้งด้วยการสร้างโรงงาน จ้างคนงาน และสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญ และเธอก็กลายเป็นเจ้าธุรกิจสินค้าเห็ดนางฟ้าทอดกรอบ ที่หอม อร่อย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Veget Crisp และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน พร้อมสร้างรายได้ให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดนางฟ้า นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า
แต่…อ้อมก็ไม่เคยลืมบุญคุณของตลาดนัดที่ทำให้เธอมีจุดเริ่มต้น และเดินมาถึงวันนี้ เธอยังคงเป็นแม่ค้าตลาดนัด..ยืนทอดเห็ดนางฟ้าขายให้คนพัทลุงสัปดาห์ละครั้ง และมีฝันที่ไกลกว่าเดิมคือ สร้างโรงงานที่ใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้ทันกับยอดสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เครื่องสำอางมะปี๊ด จากจุดที่โดนขำ มาถึงจุดที่ยิ้มได้
วรพชร วงษ์เจริญ หรือ นุ่ม อายุ 38 ปีจบการศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมซอฟ์แวร์ เป็นมนุษย์ไอทีทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มา 14 ปี มีความสุขกับการทำงาน แต่สุดท้ายต้องลาออกจากงานเพราะออฟฟิศซินโดรม ทำให้ได้คิดว่า”สุขภาพ” สำคัญที่สุด จึงหันมาเริ่มต้นการเป็นเจ้านายตัวเอง
หลังออกจากงาน ปีแรกก็ดูแลกิจการร้านกาแฟสด ธุรกิจของครอบครัว แต่ร้านกาแฟสดในจันทบุรีมีมากมาย จึงคิดสร้างอัตลักษณ์ให้กับร้าน มะปี๊ด หรือภาคกลางเรียกว่า ส้มจี๊ด เป็นพืชผักสวนครัวปลูกประจำบ้านของคนเมืองจันท์ที่นำมาใช้ทำเมนูได้สารพัด และครอบครัวเธอก็ทำสวนเกษตรอินทรีย์ (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด อ.เมือง จ.จันทบุรี) นุ่มจึงเลือกทำ “น้ำมะปี๊ด” มาเป็นเมนูเด่นประจำร้าน “มาจันท์ต้องห้ามพลาด เมนูน้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้ง เปรี้ยวอมกลิ่นส้ม เอกลักษณ์จันทบุรี”
จากจุดเริ่มต้นน้ำมะปี๊ดใส่แก้วขาย ลูกค้าติดใจต้องการซื้อกลับไปต่างจังหวัดหรือไกลๆ นุ่มจึงเริ่มศึกษาวิธีการทำน้ำมะปี๊ดบรรจุขวดแบบไม่แต่งสี ไม่เติมกลิ่น ไม่ใส่สารกันเสีย โดยเข้าร่วมโครงการ Start up ของ สสว. ได้ความรู้เรื่องกรรมวิธีพาสเจอร์ไรซ์และสเตอริไรซ์ จากอาจารย์ดร.กรรณิการ์ เจริญสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จันทบุรี และสนับสนุนการทดลองจนสำเร็จ จากนั้นได้ส่งน้ำมะปี๊ดตรวจสารปนเปื้อนกับ Central Lab Thai โดยใช้คูปองมูลค่า 5,000 บาทจากโครงการของสสว. นั่นเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ได้รับผลการตรวจว่า “น้ำมะปี๊ดปลอดภัยจากสารปนเปื้อน” น้ำมะปี๊ดบรรจุขวดส่งผลให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นแบบ 100%
จากที่นุ่มนำมะปี๊ด ซึ่งเป็นพืชรองที่ออกผลผลิตได้ทั้งปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกแค่เป็นพืชเสริมกินใช้ในบ้าน มาทำเป็นน้ำมะปี๊ดบรรจุขวด ต่อมานุ่มจึงเกิดความคิดที่จะนำมะปี๊ดมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ให้ได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนได้ทั้งปี จึงเริ่มศึกษาเรื่องประโยชน์ของมะปี๊ดจากงานวิจัยต่างๆ รวบรวมข้อมูลจนตกผลึกเกิดความคิดได้ไอเดียในการนำมะปี๊ดมาทำเป็นเครื่องสำอาง ช่วงแรกๆ มีแต่คนขำ เพราะไม่มีใครเขาทำกัน เพราะคนจันท์มีแต่เก็บมะปี๊ดมาทำอาหาร เช่น ตำน้ำพริก ทำกับข้าว ทำน้ำดื่ม
ไอเดียบวกกับองค์ความรู้ นุ่มเริ่มนำมะปี๊ดมาทำสบู่ โลชั่น เครื่องสำอางปีที่ 2 หลังจากนุ่มลาออกจากงาน และได้สร้างแบรนด์ “แรบบิทจันท์” ขึ้น และสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วยการใช้มะปี๊ดจากสวนที่ปลอดสารเคมีเท่านั้น ซึ่งเธอบอกว่า แนวความคิดในการสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ได้มาจากการเก็บเกี่ยวความรู้จากการอบรมกับสสว.เช่นเคย
แบรนด์แรบบิทจันท์เริ่มต้นจากสบู่ โลชั่น แชมพู ตามพื้นฐานความรู้เศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จนได้รับการคัดเลือกเป็น 1 SME Provincial Champions 2018 ของจังหวัดจันทบุรี จากนั้นนุ่มได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และโอกาสทางการตลาดโดยทีมที่ปรึกษาอาจารย์ดร.จิราภรณ์ ทองตัน และคุณสุภาวดี บุญงอก แล้ว จึงเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ Sleeping Mask,เจลว่านหางจระเข้,คอนดิชันเนอร์ และยังได้ความรู้เชิงลึกใหม่ๆที่นุ่มจดบันทึกไว้เพื่อจัดทำแผนทดลองและวิจัยทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์สบู่จากมะปี๊ดแรบบิทจันท์ที่รับการพัฒนาแล้วได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์แจกแขกวีไอพีและบุคคลทั่วไปในพิธีเปิดงาน Biofach & Natural Expo Southeast Asia 2018 วันที่ 12 ก.ค.2561 ที่เมืองทองธานี รวมทั้งได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าวางจำหน่ายที่ร้านค้าไร่สุวรรณข้าวโพดหวาน (ศูนย์วิจัยข้าวโพดหวานภายใต้โครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จ.นครราชสีมา อีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นที่ได้รับพัฒนาโดย สสว. แรบบิทจันท์เป็นกระต่ายที่มีความรู้และมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์จากมะปี๊ดมากยิ่งขึ้น จึงกล้าที่จะก้าวเข้าไปสมัครกิจกรรม SME Start up Award ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 และได้รับรางวัล SME Startup Award ในปีนี้
นับจากวันที่นุ่มคิดทำเครื่องสำอางจากมะปี๊ด ที่ใครๆ ก็พากันขำเรา จนถึงวันนี้ ผ่านมา 9 เดือน ความสำเร็จของ “แรบบิทจันท์” ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากมะปี๊ดสวนปลอดสารเจ้าแรกของจันทบุรี สามารถขายได้จริง มีลูกค้าที่ซื้อซ้ำผลิตภัณฑ์ และยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่นำมะปี๊ดมาขายให้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น/เดือน
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะโชคดี แต่เกิดจากการที่เราวางแผน ตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ และที่สำคัญมี สสว.เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการช่วยสนับสนุนทั้งความรู้ การให้คำปรึกษา การเป็นผู้ช่วย ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง การตลาด จึงทำให้สินค้าและแบรนด์แรบบิทจันท์ประสบความสำเร็จได้ในวันนี้
เปิดโลกธุรกิจ SME กับ SME CONNEXT
ข่าวดี สำหรับผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และประชาชนทั่วไป สมัครเป็นสมาชิกกับ SME CONNEXT ได้ฟรี!!ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยคลิกดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน SME CONNEXT จากทั้ง App Store และ Play Store ลงบนมือถือสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตและกรอกข้อมูลการเป็นสมาชิก เพียงเท่านี้โลกของธุรกิจ SME ก็อยู่ในมือคุณแล้ว เพราะ “SME CONNEXT …ครบ ในคลิกเดียว เพื่อ SME”