คำตอบของการพักผ่อนอาจจะไม่หยุดอยู่แค่การหย่อนตัวบนเตียงผ้าใบ แล้วปล่อยให้เสียงคลื่นซัดสาด ไม่ใช่การซ่อนตัวอยู่ในโรงแรมหรูที่พรั่งพร้อมด้วยบริการ แต่การพักผ่อนหย่อนใครของใครบางคน ก็คือการได้เอาใจมาวางตั้งไว้ท่ามกลางธรรมชาติ แค่เพียงเท่านั้น
นักเดินทางขาลุย จึงไม่เคยปฏิเสธที่จะตอบรับทริปแห่งการเปิดโลกใบใหม่ โดยเฉพาะมุมมองจากธรรมชาติที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพราะเชื่อว่านี่คือ “เส้นทางแห่งแรงบันดาลใจที่เกิดจากธรรมชาติ” เช่นเดียวกับวันนี้ ที่เราอยู่กันที่ “เบตง” จ.ยะลา
ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษจากกรุงเทพฯบินไปหาดใหญ่ แล้วต่อรถมุ่งไปสู่จังหวัดยะลา อีกราวสองสามชั่วโมง แวะชมเมืองยะลากันสักนิด เพราะนอกจากจะทราบมาว่าเป็นเมืองที่จัดผังเมืองได้สวยงามเป็นระเบียบมากแล้ว ตอนนี้ยังมีมุมถ่ายรูปเก๋ๆ จากภาพสตรีทอาร์ท ที่เมืองเก่า ต.ท่าสาป เป็นการทักทายยะลาในมุมอาร์ตๆ กันก่อน
จากนั้น ไปชมความงดงามของภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่าง “ผ้าปะลางิง” ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นบ้าน พิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ที่สาบสูญไปจากทางตอนใต้ แต่ถูกนำกลับมาอีกครั้ง โดย ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ จากศรียะลาบาติก พร้อมยังเป็นผู้ถ่ายทอดการสกัดสีจากธรรมชาติเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ และบอกเรื่องราวท้องถิ่นในการนำมาย้อมผ้าด้วย
“ผ้าปะลางิง” มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีกระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับตกแต่งบ้าน ทำให้ชาวยะลามีรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัจจุบันมีการสืบทอดการทำผ้าปะลางิงควบคู่กับการอนุรักษ์และเผยแพร่ไปยังกลุ่มเยาวชน สถาบันการศึกษา สะท้อนให้เห็นการนำภูมิปัญญาวัฒนธรรมสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นอีกแนวอนุรักษ์ผ้าปะลางิงไม่ให้สูญหาย
เป้าหมายของเราในวันนี้ คือ การได้มาเยือนดินแดนใต้สุดแห่งสยาม นาม “เบตง” ซึ่งมีคำขวัญว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” เบตง นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี
หลายคนคงทราบแล้วว่า เบตงเป็นหนึ่งในจุดชมความงามของสายหมอกที่ห้ามพลาด ทั้งแบบสบายๆ ที่ “อัยเยอร์เวง” หรือจะไปแอดเวนเจอร์กันเล็กน้อยที่ “ฆูนุงสีรีปัต”
“ฆูนุงซีลีปัต” ที่คนเก่าคนแก่เรียกว่า “ฆูนุงซาลี” ส่วนชาวบ้านจะเรียกกันว่า “เขาหิน” เนื่องจาก “ฆูนุง” เป็นภาษาท้องถิ่น เเปลว่า เขาหิน ตั้งอยู่ที่ กม.28 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองได้รอบตัว 360 องศา ยอดสูงถึง 670 เมตร จากระดับน้ำทะเล
การเดินทางขึ้นไปด้านบนต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ โดยจะมีรถกะบะหรือรถจิ๊ปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว 3 กิโลเมตร เดินทางเท้าต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จึงจะถึงจุดที่พัก กางเต้นท์ สามารถรับรองได้ ประมาณ 75 คน และเดินไต่ตามสันเขาไปอีก 200 เมตร สู่จุดสุดยอดเขาหิน ซึ่งมีพื้นที่บนยอดเขาประมาณ 18 ตร.ม. ชมวิวทะเลหมอก
ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง “ฆูนุงซีลีปัต” จึงเหมาะกับผู้ที่มีใจรักการท่องเที่ยวแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ นอกจากจะต้องออกแรงเดินและปีนป่ายกันพอสมควรแล้ว ลานกางเต้นท์ซึ่งทางชุมชนมีไว้ให้บริการ ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้น้ำอย่างประหยัด การกินอยู่แบบกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่ทำให้เราได้ใช้ชีวิตจริงๆ ของเรา และได้มองเห็นตัวตนของธรรมชาติอันงดงาม ทั้งยามเช้าและยามเย็น
ซึ่งจากจุดกางเต้นท์ ก็ต้องปีนเขาขึ้นไปอีกราว 200 เมตร แม้จะทุลักทุเล แต่ก็นับว่าคุ้มค่ามาก กลุ่มชาวบ้านจะคอยบริการเรื่องที่พักและอาหาร รวมทั้งอาหารเช้าบนจุดชมวิวแบบ 360 องศา เรียกได้ว่า กาแฟแก้วที่แพงที่สุด ก็เทียบไม่ได้เลยกับ กาแฟธรรมดาๆ กับมุมมองอันงดงามบนยอดเขาแห่งนี้
เช้าอีกวันหนึ่งหลังจากชมวิวกันอย่างจุใจแล้ว เราเดินทางลงมายังเมืองเบตงอีกครั้ง เพื่อเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจุดต่อไป และยังคงปักหมุดที่เป้าหมายความงดงามของธรรมชาติ โดยไปกันที่ จุดชมวิว “ทะเลหมอกเขาร้อยลูก บ้านธารน้ำทิพย์” ซึ่งถือว่าเป็นจุดชมวิวแห่งใหม่
บริเวณ ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา ความพิเศษของจุดนี้ คือ เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทะเลหมอกหนาท่ามกลางขุนเขานับร้อยลูกทั่งทางฝั่งไทยและมาเลเซีย ยามสายเมื่อหมอกคลายตัว ภาพที่ปรากฎขึ้นคือตัวเมืองเบตง ทุกคนสามารถเดินทางมาชมวิวมุมสูงในจุดนี้ได้ไม่ยาก เพราะรถขับเคลื่อนสี่ล้อสามารถพาเราไปถึงจุดหมายได้ ใช้เวลาเดินทางจากตัวอำเภอเบตงประมาณ 45 นาที
เดินทางไปเบตงวันนี้ไม่ไกล บินฉิวต่อรถไปอีกไม่นาน และอีกไม่ช้าก็จะมีสนามบินตรงไปลงที่เบตงแล้ว แล้วเราจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ข้อมูลติดต่อ
ชมผ้าปะละงิง ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ 099-2832452
การท่องเที่ยวโดยชุมชนทะเลหมอกฆูนุงซีลีปัต เฮง 081-0938549 และ ซู 082-2656900
ชมทะเลหมอกบ้านน้ำทิพย์ อบต.ธารน้ำทิพย์ อมร นิลรัตน์ 089-4872867