กรมสุขภาพจิต ชูไอเดีย“นวดไทย-อโรมา”รักษาโรคซึมเศร้า

42

กรมสุขภาพจิตชูไอเดีย“นวดไทย-อโรมา”รักษาโรคซึมเศร้า เพื่อจัดบริการในชุมชน เผยขณะนี้คนไทยป่วยโรคนี้สูงถึง 1.5 ล้านคน ครึ่งหนึ่งไม่เข้ารักษา เหตุเข้าใจผิดคิดว่าจะหายเอง!

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) ว่า โรคนี้เป็นโรคมีความผิดปกติทางอารมณ์ เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีคนป่วยโรคนี้จำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ได้รับการรักษา คาดประมาณการว่ามีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นชนิดรุนแรงคือ มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวังอย่างรุนแรงเกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ร่วมกับเบื่อหน่าย หมดความสนใจในการงานหรือกิจกรรมที่เคยชอบทำเป็นต้น ส่วนที่เหลือเป็นชนิดเรื้อรังเป็นๆหาย แม้ทำงานได้แต่จะอยู่แบบไม่มีชีวิตชีวา ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพสามารถให้การรักษาโรคนี้ตามมาตรฐานและมียารักษาหายขาด แต่ปัญหาใหญ่คือผู้ป่วยยังเข้ารักษาไม่มากเท่าที่ควร ในรอบ 9 เดือนปีงบประมาณ 2560 นี้ มีผู้ป่วยเข้ารักษาทั่วประเทศ 750,775 คน คิดเป็นร้อยละ 53 ของผู้ป่วยที่คาดประมาณทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยแรงงานและสูงอายุ ส่วนกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ารักษาเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สาเหตุหลักของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วไม่เข้ารักษา ส่วนหนึ่งเกิดจากเข้าใจผิดคิดว่าอาการป่วยซึมเศร้าหดหู่ใจเป็นเรื่องธรรมดา เป็นแล้วก็หายเอง และยังมีอคติว่าโรคซึมเศร้าเป็นคนบ้า วิกลจริต จึงไม่เข้ารักษา ทำให้มีผลเสีย อาการลุกลามจนมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน หูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย มีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต สุดท้ายอาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในการแก้ไขป้องกันปัญหาในปี 2560 นี้ เน้นหนักที่การสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนผ่านทางอสม.ซึ่งรู้จักชุมชนดีที่สุด การค้นหาผู้ป่วยในชุมชนซึ่งคาดว่าจะมีอยู่เกือบ 7 แสนคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ง่ายกว่าคนอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย ผู้สูงอายุ ผู้ติดสุราหรือสารเสพติด ผู้ที่สูญเสียของรัก ซึ่งจะใช้แบบคัดกรองด้วยภาษาถิ่นทั้งอีสาน เหนือ ใต้และภาษายาวีง่ายๆ 2 คำถาม ชาวบ้านเข้าใจง่ายขึ้น หากพบก็จะประเมินอาการระดับความรุนแรงต่อ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วเพียง 3-5 นาที และให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ในรอบ 9 เดือนมานี้สามารถค้นพบผู้ป่วยรายใหม่และนำเข้าสู่ระบบการรักษา 56,441 คน ต้นทุนให้บริการถูกลงจากเดิม 14,381 บาทต่อคน เหลือเพียง 930 บาทต่อคนเท่านั้น มาตรการดำเนินการของประเทศไทย ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกว่าทำได้ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ประการสำคัญได้มอบให้โรงพยาบาล(รพ.)พระศรีมหาโพธิ์จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นรพ.ต้นแบบของการพัฒนามาตรฐานการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าระดับประเทศของกรมฯ ทำการศึกษาวิจัยนวดไทยมาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เนื่องจากการนวดจะมีผลกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ร่างกายตื่นตัว เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่จากภูมิปัญญาชาติใกล้ตัวและมีบรรยากาศการดูแลแบบมิตรภาพมีคุณค่าสูงทางจิตใจของผู้ป่วย หากวิจัยสำเร็จจะสามารถบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการผู้ป่วยโรคนี้ในชุมชนได้ ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีบริการการแพทย์แผนไทยครอบคลุมถึงรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดจะเพิ่มมูลค่าของการนวดไทยในด้านการบำบัดรักษาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น สามารถใช้สร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และลดการพึ่งยาในอนาคตได้ด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการรพ.พระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า การวิจัยการนวดบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดรักษา โดยทีมวิจัยของรพ.ได้ร่วมกับคณะอาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย พัฒนาโปรแกรมนวดชื่อว่าพระศรีนวดแผนไทย (Prasri MassageTherapy : PMT) เป็นการนวดเฉพาะจุดร่วมกับการใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์แบบอโรมาซึ่งมีผลต่อการปรับความสมดุลย์ของสารเคมีในสมอง การนวดมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน นวดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ได้แก่ ศีรษะ คอ บ่า หลัง แขน มือขา และเท้า โดยศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความรุนแรงระดับเล็กน้อยที่ใช้บริการที่รพ.พระศรีฯ จำนวน 352 คน ใช้เวลานวด 1 ชั่วโมง ดำเนินการระหว่างตุลาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 จากนั้นจะศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับกลุ่มที่รักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นๆตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้มีผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการนวดมีประสิทธิภาพในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางได้ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและช่วยกระตุ้นต่อมใต้สมองเพิ่มการหลั่งสารซีโรโทนิน ส่งผลให้ลดอาการซึมเศร้าได้ โดยพบว่าได้ผลดีในการบำบัดหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางไม่แตกต่างจากการใช้ยาต้านเศร้า ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากพืชพบว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ช่วยลดอาการซึมเศร้า ที่นิยมใช้ทั่วไปคือ ลาเวนเดอร์ซึ่งสกัดมาจากดอกลาเวนเดอร์ หลังจากที่ใช้ร่วมกับการนวดไปแล้ว 19 นาที กลิ่นหอมระเหยของน้ำมันลาเวนเดอร์จะช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทคือสารโดปามีน ส่งผลให้ลดความวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้าได้

“โรคซึมเศร้านี้ คนทุกวัยป่วยได้ แต่รักษาหายได้ เมื่อมีซึมเศร้าก็สามารถคุยพูดกันได้ หากรู้สึกว่าตนเองหรือคนในครอบครัวหรือคนรู้จัก มีอาการหรือพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากปกติคือ หดหู่ เศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือเบื่อ ทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ขอให้ปรึกษาอสม. หากมีอาการซึมเศร้าร่วมกับความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง หรือบอกว่า ชีวิตนี้ไม่มีค่าที่จะอยู่ต่อไปอีกแล้ว ขอให้รีบไปรับบริการที่รพ.ใกล้บ้าน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าใด ก็ยิ่งจะมีโอกาสหายสูง โดยใช้เวลารักษาเพียง 6-9 เดือนเท่านั้น หรือหากประชาชนท่านใดมีปัญหาทุกข์ใจ ไม่ทราบจะหาทางออกอย่างไร สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”นายแพทย์ประภาสกล่าว