เป็นที่ทราบกันดีว่า “โรคลมพิษ” อาจมีทั้งสามารถทราบสาเหตุของโรคได้อย่างแน่นอน และในบางรายก็ไม่อาจทราบสาเหตุได้ โดยอาจแปรผันไปตามสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล อีกทั้งสภาวะอากาศที่แปรเปลี่ยนอย่างกะทันหันในยุคปัจจุบันก็อาจเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของ “โรคลมพิษ” ได้เช่นกัน ดังนั้นการมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิด
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันโรคลมพิษโลก โรงพยาบาลศิริราชจึงได้จัดกิจกรรม “ศิริราชห่วงใย ชวนใส่ใจ โรคลมพิษ ครั้งที่ 3” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมพิษและยา รวมถึงการทดสอบต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานกับอาการผื่นคันที่อาจผลต่อบุคลิกภาพของผู้ป่วยรวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย โดยภายในงานได้มีกลุ่มผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางแพทย์เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 140 คน
โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นอาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 – 10 ซม. มักกระจายตามร่างกายอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามบริเวณที่มีผื่นขึ้น โดยทั่วไปแต่ละผื่นจะอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ของร่างกายได้อีกเช่นกัน
ทั้งนี้สามารถแบ่งชนิดของโรคลมพิษเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ผื่นลมพิษที่จะเกิดขึ้นตามร่างกายในระยะเวลาติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ และ โรคลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) ผื่นลมพิษที่จะมีอาการเป็นๆ หายๆ อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป
จากข้อมูลทางสถิติของผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังในประเทศไทย ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวที่คลินิกโรคลมพิษ ภาควิชาตจวิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่า ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคลมพิษเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ปี ซึ่งตลอดช่วงชีวิตของคนทั่วไปจะมีโอกาสเกิดโรคลมพิษเรื้อรังได้ประมาณร้อยละ 0.5 – 1
โรคลมพิษมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวลต่อการดำเนินชีวิตตลอดเวลา ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้ป่วยลมพิษจำนวนมากอาจจะไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างแน่ชัด ดังนั้นการมีความรู้เบื้องต้นว่าสาเหตุของโรคลมพิษมาจากสาเหตุใดได้บ้างจึงนับเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ผื่นที่มีอยู่มีอาการมากขึ้น หรือช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น อันประกอบด้วย
- อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
- ยา ปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษได้
- การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ อาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
- อิทธิพลทางกายภาพ ในผู้ป่วยบางราย ผื่นลมพิษอาจเป็นผลจากปฏิกริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด การออกกำลังกาย เป็นต้น
- การแพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยาง (Iatex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
- ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้ง ต่อต่อย
- มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
- ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคลูปัสหรือ ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบบางรายอาจมีผื่นลมพิษแต่มีข้อสังเกต คือ แต่ละผื่นอยู่นานมักเกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อผื่นหายไปมักจะทิ้งรอยดำเอาไว้
“สำหรับแนวทางการรักษาโรคลมพิษในกรณีที่สามารถสืบค้นจนทราบสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮิสตามีนไปแล้วผื่นลมพิษมักหายได้เร็ว แต่หากหาสาเหตุไม่พบหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย แพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษให้สงบลงได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปีซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาที่มากขึ้นทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้” ศ.พญ.กนกวลัย กล่าว
นอกจากนี้ภายในงานยังมีสถานีให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทดสอบผิวหนังในโรคลมพิษ จำนวน 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1 – การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Test) สถานีที่ 2 – การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังโดยวิธีฉีดซีรั่ม (Autologous Serum Skin Test) สถานีที่ 3 – การทดสอบผื่นลมพิษจากการขีดข่วนและน้ำหนักกดทับ และสถานีที่ 4 – การทดสอบผื่นลมพิษจากความเย็น (Cold provocation Test) โดยทุกสถานีได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้จักและทดลองทดสอบจริงกับอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย ทั้งยังสามารถสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างใกล้ชิดตลอดงานอีกด้วย