เรื้อรังร้ายแรง“ข่มขืน”ทุกฝ่ายต้องจริงจัง นักสังคมสงเคราะห์หนุน ลงโทษที่เด็ดขาด

40

สลดสังคมไทย ความรุนแรงทางเพศยังพุ่ง  ชี้ภัยเหล้าปัจจัยกระตุ้นสำคัญ  เกินครึ่งเกิดจากคนใกล้ตัว-ครอบครัว  อึ้งสถิติพบ 5 ขวบถูกข่มขืน นักศึกษากลุ่มเสี่ยงอันดับหนึ่ง  นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ แนะเปลี่ยนทัศนคติไม่มองผู้หญิงเป็นแค่สิ่งของ  มีสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ ในการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ-สร้างพื้นที่ปลอดภัย  ด้านป้ามล ชู “วิชาชีวิต” เพิ่มภูมิคุ้มกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีเวทีเสวนา “ข่มขืน…ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน”  จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สิรินยา บิชอพ (ซินดี้) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางสาวจรีย์  ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 จากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงฯ ทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย สำหรับปัจจัยกระตุ้น พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดถึง ร้อยละ 31.1 หรือคิดเป็นหนึ่งในสามโดยประมาณ รองลงมา การอ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 28 การใช้สารเสพติด ร้อยละ16.3 และต้องการชิงทรัพย์ ร้อยละ 11.7 ส่วนอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่ง หรือร้อยละ 60.6 ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี รองลงมา ร้อยละ 30.9 อายุ 41-60 ปี สำหรับอาชีพของผู้ถูกกระทำ อันดับหนึ่ง เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือลูกจ้าง ร้อยละ 21.6 ค้าขาย ร้อยละ 5.2 และเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ร้อยละ 4.2 ส่วนสถานที่เกิดเหตุ พบว่า เกิดในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ รองลงเกิดในที่พักของผู้กระทำ และเกิดเหตุในที่เปลี่ยว/ถนนเปลี่ยว ส่วนพื้นที่เกิดเหตุอันดับหนึ่งคือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 17.4 รองลงมา จ.ชลบุรี ร้อยละ 7.6 จ.สมุทรปราการร้อยละ 6.8  จ.ปทุมธานี ร้อยละ 5.2 และ จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 4.9

“ที่น่าสลดคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุด คือ เด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และอายุมากสุด คือ อายุ 90 ปีถูกข่มขืน ส่วนอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี เมื่อลงลึกถึงความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมา เป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 38.2 และถูกกระทำจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ร้อยละ 8.8 โดยจะเห็นได้ว่า กรณีความสัมพันธ์ที่เป็นคนใกล้ชิด/คนรู้จักคุ้นเคยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีข่าวที่ผู้กระทำฯ มักอาศัยความไว้ใจเชื่อใจ ล่อลวงกระทำการข่มขืน ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ คือ หวาดผวา/ระแวง/กลัว ร้อยละ 26.1 ที่น่าห่วงคือ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง/ยาวนาน ร้อยละ 12.8 ถูกขู่ฆ่าหากขัดขืน/ข่มขู่ห้ามบอกใคร ร้อยละ 12.7 ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส ร้อยละ 12

ทั้งนี้ข้อเสนอในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ และควรสร้างความคิดที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ถูกกระทำแทนภาพเชิงลบ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อลดความหวาดกลัว สิ้นหวัง แต่กล้าเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น และถึงเวลาที่เราควรมีหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียนให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง บุคคลในหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ควรมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่กระทำซ้ำผู้ถูกกระทำหรือจัดการปัญหาด้วยการมองว่าเป็นปัญหาของผู้หญิง อีกทั้งในระบบการเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ต้องดูแลแบบต่อเนื่อง เน้นการทำงานกับพลังภายในของผู้ถูกกระทำด้วย เพื่อทำให้เห็นคุณค่าภายใน เห็นศักยภาพความสามารถของตนเองเพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าภายในอีกด้วย” นางสาวจรีย์ ระบุ

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2560 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.4 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายดื่มสูงกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของครัวเรือน โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2560 คนไทยมีค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึง 142,230 ล้านบาท และการดื่มยังเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง มะเร็ง หลอดเลือดสมอง เป็นต้น

การจัดเวทีครั้งนี้เป็นข้อมูลอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยร่วมสำคัญถึงหนึ่งในสามของผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นภัยสังคมที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าผลกระทบทางสุขภาพและอุบัติเหตุ ดังนั้นการลดความเสี่ยงสามารถทำได้ หากเริ่มตระหนักถึงปัญหา และค่อยๆลดละ เลิกพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเข้มงวด รวมทั้งการเฝ้าระวังในระดับชุมชน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน

รองศาสตราจารย์อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า จากสถิติ พบผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการของตำรวจมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการเฝ้าระวังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ การรับรู้จะค่อยๆเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต หลายรายต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกผิดโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา มีทัศนคติที่ไม่ดีในการสร้างครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอาย ไม่กล้าเปิดเผย เก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทำให้ผู้กระทำย่ามใจเกิดการกระทำซ้ำ

“ต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด เกิดการเปลี่ยนรากฐานทัศนคติ หยุดการใช้อำนาจ และไม่มองผู้หญิงเป็นวัตถุสิ่งของ ส่วนผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่ชัดเจน คือ ให้บริการที่เป็นมิตรในรายบุคคล ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา มีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่เพียงพอ นอกจากนี้ต้องมีบริการที่เป็นองค์รวม เช่น ปัจจัยสี่ อาชีพ ที่พักพิงชั่วคราวพื้นที่ปลอดภัย” รองศาสตราจารย์อภิญญา กล่าว

ขณะที่นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การข่มขืนเป็นความรุนแรงทางเพศที่คุกคามความเป็นมนุษย์ผู้ถูกกระทำอย่างที่สุด แต่สังคมไทยกลับไม่จริงจังกับเรื่องการเรียกร้องความรับผิดชอบทางเพศในมิตินี้จากผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล ขณะเดียวกันกลับเข้มงวดกดดัน ตีเส้น ตีกรอบ และเรียกร้องการดูแลตัวเองจากผู้หญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่หลงทางมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ที่ผ่านมาบ้านกาญฯ ได้ทำกระบวนการกลุ่ม มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ที่เราเรียกว่า “วิชาชีวิต”เปลี่ยนระบบความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางเพศอย่างต่อเนื่อง สามารถจับต้องได้ เช่น กิจกรรมการเลี้ยงไข่ต้ม 8 วัน โดยให้เยาวชนต้องหิ้วไข่ต้มติดตัวตลอดเวลา จนครบกำหนด จากนั้นจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ละคนประสบปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้เขาได้เข้าใจว่าสิบกว่าปีที่พ่อแม่ต้องลำบากในการเลี้ยงดูพวกเขา เมื่อเทียบกับการที่พวกเขาต้อง อึดอัดอดทนกับไข่ต้มเพียงแค่ 8 วันที่ต้องทนหิ้วทนถือ จากนั้นให้มีการวิเคราะห์ข่าวเด็ก เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง ข่าวพ่อวัยรุ่นฆ่าลูก ข่าวนักเรียนหญิงท้องเพราะเพื่อนชายข่มขืน เมื่อความคิดมุมมองในเรื่องตั้งท้อง ทิ้งลูก เลี้ยงลูกก่อรูปอย่างมีจุดเกาะเกี่ยวชัดเจน วัยรุ่นทุกคนของบ้านกาญฯ จะต้องไปเลี้ยงน้องที่บ้านเด็กกำพร้าบ้านปากเกร็ด 1 วัน จากนั้นให้ถอดบทเรียนกันที่บ้านเด็กกำพร้าท่ามกลางเสียงของน้องๆ หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นมาค้นหาจุดมืดจุดบอด จุดสว่างของคนในหนัง

“กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ เมื่อผลิตซ้ำบนความหลากหลาย จะทำให้รูปแบบการคิดเปลี่ยนไป โดยไม่ต้องท่องจำ   ความรับผิดชอบทางเพศคือความรับผิดชอบที่ต้องเรียกร้องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน การเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้หญิงแต่ปล่อยให้ผู้ชายลอยนวล คือทางแก้ที่ไร้ความสำนึก ขาดความรับผิดชอบของคนในสังคม ซึ่งต้องทบทวนและรื้อทิ้งความคิดดังกล่าวตั้งแต่วันนี้  ทุกวันนี้แค่วิชาการเป็นเลิศมันเอาไม่อยู่แล้ว” นางทิชา กล่าว