เมื่อลมหนาวโชยมา ก็ถึงเวลาที่เราจะออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสบรรยากาศของหน้าหนาว โดยเฉพาะในพื้นที่สูง ซึ่งมีความหนาวพร้อมบรรยากาศอันสวยงาม นอกจากเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นต่อร่างกายแล้ว เครื่องทำน้ำอุ่นยังเป็นหนึ่งในเครื่องใช้สำคัญในทุกฤดูหนาว แต่ในหลายพื้นที่ก็ไม่ได้มีความพร้อมเรื่องของไฟฟ้า จึงต้องเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งอันตรายได้ วันนี้มีข้อมูลดีๆ จากกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับอันตรายและคำแนะนำในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สมาฝาก
โดยล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปรับลมหนาวตามยอดดอย ภูเขา หรือสถานที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ระมัดระวังการเข้าพักอาศัยในที่พักที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส รวม 21 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้อาบน้ำในลำดับท้ายๆ หลังจากมีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น นักท่องเที่ยวจึงนิยมเดินทางไปเที่ยวตามยอดดอย ภูเขา และพักผ่อนตามรีสอร์ท บ้านพักต่างๆ ซึ่งอาจมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สแทนระบบไฟฟ้า นักท่องเที่ยวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สระหว่างอาบน้ำได้
ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงปี 2551-2560 จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงานเหตุการณ์ทั้งหมด 21 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 24 ราย และเสียชีวิต 7 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ พบมากช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี ตามสถานที่พักต่างๆ ทั้งในรีสอร์ท โรงแรม และสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้อาบน้ำในลำดับท้ายๆ หลังจากมีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคน สาเหตุเกิดจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีมาตรฐาน(มอก.) มีการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน การระบายอากาศไม่เหมาะสมกับสภาพและขนาดของห้องน้ำ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้อาบน้ำป่วยและเสียชีวิต เกิดจากขณะเปิดใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จะมีการเผาไหม้เพื่อนำความร้อนไปทำให้น้ำอุ่น แต่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ไปแทนที่ออกซิเจนที่อาจมีน้อยอยู่แล้ว ทำให้คนที่อาบน้ำในห้องน้ำสูดดมคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไปในปริมาณมากและเป็นเวลานาน คาร์บอนมอนนอกไซด์จะไปเกาะจับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
คำแนะนำในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ดังนี้
- เจ้าของกิจการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยติดตั้งในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งานอย่างชัดเจน
- ไม่ควรอาบน้ำเป็นเวลานาน ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออกก่อนคนถัดจะอาบหรือใช้ห้องน้ำต่อ หากมีอาการขณะอาบน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก หรือได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที
- กลุ่มเสี่ยงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้ห้องน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เพราะหากได้รับแก๊สดังกล่าวอาจทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ
- หากพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรแจ้งสายด่วน 1669 นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422