นอกจากชื่อฉัน มีสิ่งอื่นอีกไหม ที่เธอยังใส่ใจ และพอจำมันได้อยู่….
เนื้อเพลงของศิลปิน ActArt เขาออกจะตัดพ้อหน่อยๆ แต่พอลองนำมาคิดแล้ว มันก็จริง เหมือนบางความทรงจำที่เคยประทับใจ แต่พอนานวันไป กลับกลายเป็นเพียงความทรงที่จำไม่ได้ เพราะนอกจากชื่อแล้ว ก็แทบจะนึกอะไรไม่ออกอีกเลย แล้วจะเรียกว่า “ความทรงจำ” ได้ไหม
จังหวัดที่อาจไม่เคยอยู่ในสายตา แต่ทว่าก็มีตัวตนอันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ นอกจากชื่อฉัน “พิจิตร” และ “ชาละวัน” แล้ว เรามีอะไรที่อยู่ในความทรงจำกันบ้าง
หากความทรงจำของใครยังว่างเปล่า หรือเป็นความทรงที่จำไม่ได้ วันนี้เรามี 5 จุดประทับความทรงจำของพิจิตรมาฝาก
1.เก็บความทรงจำแห่งวัน ที่บึงสีไฟ
บรรยากาศของพิจิตรในทุกยามค่อนข้างจะเงียบเชียบ ผู้คนสัญจรไปมาอย่างบางตา วันนี้เราเข้ามายังตัวเมืองพิจิตรในเวลาเย็นย่ำ และนั่นก็เป็นช่วงที่เหมาะเจาะสำหรับการเข้าไปเดินเล่นที่บึงสีไฟ
บึงสีไฟ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เดิมมีเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือประมาณ 5,000 ไร่ ลักษณะของบึงกลมคล้ายกระทะ และยังเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทยเลยนะ
ริมบึงสีไฟ เป็นส่วนของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สวนสาธารณะที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่ของการออกลังกายของคนพิจิตร
รูปปั้นพญาชาละวัน รูปปั้นจระเข้ยักษ์ที่มีความยาว 38 เมตร ยังเป็นสัญลักษณ์ในการต้อนรับผู้ที่เข้ามาเยือนบึงสีไฟ พร้อมเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ซึ่งวันนี้ เราต่างหวังว่า จะได้เห็นภาพของแสงสุดท้ายของวันในจุดนี้ แต่หมู่เมฆที่ปกคลุมในช่วงหน้าฝน ก็บดบังความหวังของเราไป เหลือไว้แค่ผืนฟ้าสีครามกับผืนน้ำที่นิ่งกริบ แวววาวคล้ายกระจกผืนใหญ่
เงาของผืนน้ำ สะท้อนภาพในใจ ด้วยความนิ่ง เงียบ เรียบ เฉย ไม่มีอะไร ไม่เห็นจะหวือหวาตรงไหน แต่ก็สุขพอใช้ได้ นี่ใช่ไหม อีกความทรงจำที่เราจะเก็บมันไว้
2.เก็บความประทับใจ วัดโพธิ์ประทับช้าง
ปรากฎการณ์ “ออเจ้า” ของละครบุพเพสันนิวาส ได้เข้ามาประทับอยู่ในความทรงจำของเรา และทำให้หลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ กลับมาสร้างความน่าสนใจขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับ วัดโพธิ์ประทับช้าง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ปรากฎอยู่ในละคร แต่วัดเก่าแก่แห่งนี้ ก็สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือ หรือหลวงสรศักดิ์ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นที่ประสูติของพระองค์
วัดโพธิ์ประทับช้าง มาถึงก็จะพบกับความโดดเด่นของต้นตะเคียนขนาดใหญ่หน้าวัด ภายในวัดมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐาน คือ องค์หลวงพ่อโต เป็นพระประธาน
ปัจจุบันวัดโพธิ์ประทับช้างอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ตัววัดจึงยังคงมีความสวยงามและสมบูรณ์อยู่มาก การเข้ามาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ทำให้เราได้สัมผัสถึงมนต์ขลังได้อย่างอิ่มเอมใจ
ด้านหน้าของตัววัดเป็นแม่น้ำน่าน ริมฝั่งมีอนุสาวรีย์พระพุทธเจ้าเสือสร้างไว้เป็นที่ระลึก นับเป็นอีกมุมมองที่สงบงามของพิจิตร ที่สร้างช่วงเวลาแห่งความทรงจำดีๆ ให้กับเราได้
3.ย้อนความทรงจำ ในอุทยานเมืองเก่า
พิจิตรเป็นอีกเมืองเก่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ ที่อุทยานเมืองเก่า ที่ระบุว่าก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.1601 ภายในกำแพงมีพื้นที่ราว 400 ไร่ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นอีกสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและการออกกำลังกายของคนพิจิตร
เราเข้ามาในอุทยานเมืองเก่า แล้วมุ่งหน้าไปที่ วัดมหาธาตุ ซึ่งเคยตั้งอยู่กึ่งกลางของเมืองพิจิตรเก่า โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของวัดนี้เมื่อ พ.ศ.2478 ประกอบไปด้วยพระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกา ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารเก้าห้อง
วันนี้เราได้พบกับคุณตากับหลานชาย ที่กำลังใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขด้วยการถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือบันทึกภาพที่ง่ายดายสำหรับเด็กน้อย แต่ก็แอบน่ารักน่าชังขึ้นมาเมื่อเราได้ยินหลานชายบอกกับคุณตาว่า “ชูสองนิ้วแบบนี้นะ” พร้อมทำท่าเป็นตัวอย่าง ตากล้องน้อยๆ วิ่งไปวิ่งมา โดยหวังว่าจะเก็บภาพความทรงจำที่ดีที่สุดให้คุณตาให้ได้ในวันนี้
เราเดินออกมาด้านหน้า มีทางบอกไป “ถ้ำชาละวัน” ซึ่งมีที่มาจากวรรณคดีเรื่องไกรทอง เป็นถ้ำเล็กๆ ที่ทรุดโทรมไปตามกาล ปัจจุบันดินในบริเวณนี้พังทลายจนตื้นเขิน เห็นเพียงรูปปั้นไกรทองและชาละวันที่ทางจังหวัดได้สร้างไว้ตรงปากถ้ำ
4.รำลึกความสัมพันธ์ ไทย-เวียดนาม ที่บ้านดงโฮจิมินห์
แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ แต่ความผูกพันของคนไทยและเวียดนามที่มีต่อลุงโฮ หรือ ประธานโฮจิมินห์ก็ยังคงเหนียวแน่น ปรากฏเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในหลายจังหวัด รวมทั้ง ที่บ้านดง หมู่ 5 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประธานโฮจิมินห์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงเคลื่อนไหวปฏิวัติในประเทศไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 จนถึง 1929 โดยประธานโฮจิมินทร์ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านดงราว 2 สัปดาห์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมด้วยความผูกพัน จนทางการไทยและเวียดนาม ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ขึ้นให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรำลึกและศึกษา โดยได้เปิดตัวไปเมื่อ ก.ย. 2561
พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 6,400 ตารางเมตร เดิมเป็นสุสานของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณใจกลางบ้านดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญและน้ำใจของประชาชนที่นี่ต่อประธานโฮจิมินห์ และชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านดงเป็นที่แรก
แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 9 โซน ได้แก่ โซนสายสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม โซนบ้านดงในอดีต โซนโฮจิมินห์ ผู้ปลดแอกเวียดนาม โซนภูมิศาสตร์บ้านดง จังหวัดพิจิตร โซนชุมชนบ้านดง โซนภารกิจลับที่บ้านดง โซนการเคลื่อนไหวในสยาม โซนบากบั่นปลดแอก และ โซนวีรบุรุษ
ใกล้ๆ กันเป็นบ้านยกพื้นที่จำลองบ้านที่ประธานโฮจิมินห์เคยอาศัย ภายในบ้านมีหิ้งบูชาประธานโฮจิมินห์และรูปปั้นของท่าน ภายในตัวบ้านยังมีตู้ไม้ตั้งตะเกียงน้ำมัน ที่ประธานโฮจิมินห์เคยใช้ในขณะที่อาศัยในจังหวัดพิจิตร
นี่คือสถานที่ที่จะช่วยจุดประกายให้เราได้รู้จักกับคำว่าเสียสละและความดีงาม เป็นอีกสถานที่ในคงามทรงจำของบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพทั้งของชาวไทยและเวียดนาม
(พิพิธภัณฑ์ บ้านดงโฮจิมินห์ ตำบลป่ามะคาบ อำเภอบ้านดง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร.087-198-8699 เปิดทำการทุกวันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 8.30 – 16.30 น. www.bandonghochiminhmuseum.com )
5.คิดถึงความทรงจำ คิดถึงวังกรด
ในตัวเมืองพิจิตรมีชุมชนเก่าใกล้กับสถานีรถไฟซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นสถานที่ที่เราจะได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของความทรงจำดีๆ ที่อยู่คู่กับชาวพิจิตรมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ย่านเก่าวังกรด
หอนาฬิกาเก่า ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางชุมชน ซึ่งเรียงรายไปด้วยเรือนแถวไม้เก่า ชุมชนแห่งนี้มีอายุนับ 100 ปี อาคารบ้านเรือนที่เป็นระเบียบ พร้อมทั้งวิถีที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต และยังคงความงดงาม
มาถึงย่านเก่าวังกรดแล้ว เราเดินชมบ้านเรือนไปตามซอยเล็กๆ ซึ่งจะไปสุดทางฝั่งหนึ่งที่ริมแม่น้ำน่าน ซึ่งจะมีศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่วังกลม เป็นสถานที่สะท้อนความเชื่อความศรัทธาของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาอย่างยาวนาน
ในย่านเมืองเก่าวังกรด มีสถานที่ท่องเที่ยวให้เที่ยวชมอยู่มาก ทั้งส่วนของหอนาฬิกา ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆ ศาลเจ้าพ่อวังกลม ริมแม่น้ำน่าน หรือจะเป็นสถานีรถไฟ ซึ่งเราสามารถเดินชม เดินชิม ได้โดยไม่ไกลกัน
แต่หากเดินไกลหน่อย หรือใช้บริการรถรางในพื้นที่ ก็จะนำเราไปสู่อีกจุดที่น่าสนใจ นั่นคือ บ้านหลวงประเทืองคดี นายกเทศบาลมนตรีคนแรกของจังหวัดพิจิตร อายุบ้านราว 80 ปี นับเป็นตึกสองชั้นหลังแรกของตำบลวังกรด และเป็นผู้ที่เริ่มก่อสร้างตลาดวังกรดอีกด้วย
หลายคนอาจงง เพราะชื่อศาลเจ้ากับชื่อชุมชนไม่เหมือนกัน นั่นเพราะชื่อเดิมของย่านนี้คือ วังกลม แต่มาเปลี่ยนตามชื่อ สถานีรถไฟวังกรด นั่นเอง
วันนี้เราเข้ามาเดินเล่นในย่านวังกรด และตั้งใจว่าจะมาฝากท้องกันที่นี่ด้วย นอกจากจะเดินชิมของอร่อยๆ จนแทบจะเต็มท้องแล้ว ก็ยังต้องการเติมเต็มความทรงจำนี้ด้วยการลิ้มลอง “ก๋วยเตี๋ยวปิ่นโต ต่ายฮะ” ซึ่งอยู่บริเวณตึกแถวหลังสถานีรถไฟ ร้านนี้คึกคักไปด้วยผู้คน ด้วยเอกลักษณ์ของภาชนะอย่างปิ่นโตขนาดกำลังดี
วันนี้เราสั่งบะหมี่เกี๊ยวแห้งมาลองทาน แม้จะรอนานหน่อย ก็ไม่ทรมาน เพราะได้รองท้องกับสาคูใส้หมู ร้านอร่อย บริเวณตึกแถวทางจะไปศาลเจ้าวังกลมมาแล้ว แถมยังมานั่งปักหลักอยู่ที่ร้านน้ำแข็งใสเจ๊ฉวี ที่อยู่เยื้องๆ กัน เพราะที่ร้านพี่ต่ายคนค่อนข้างแน่น ได้เห็นแล้วว่าแม่ค้าที่วังกรดเขาใจดี สั่งอาหารข้ามร้านกันได้
ระหว่างรอก็สังเกตได้เลยว่า น้ำแข็งใสเจ๊ฉวี เขามีดีจริงๆ เพราะมีลูกค้าทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนไม่ขาดสาย
ถึงเวลาก๋วยเตี๋ยวลำเลียงมาในปิ่นโตเถาน้อย บะหมี่เกี๊ยวแห้งหมูแดง ปริมาณไม่มากนัก คนกินจุคงสักสองสามชามถึงจะอิ่ม แต่ราคาก็เบาตามลงไป 25-30 บาทเท่านั้น แถมยังเคียงมากับน้ำซุปต้มเล้ง แบบเต็มใจจัดให้ ลองแล้วได้รับความรู้สึกของก๋วยเตี๋ยวแบบบ้านๆ หอมวัตถุดิบทั้งถั่วคั่วและกุ้งแห้งฝอย และน้ำราดหมูแดงที่เข้มหอมกำลังดี เพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน มักจะสั่งเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำพริกสด เพราะเป็นสูตรของทางร้านที่ทำมานาน แอบลองชิมก็คิดว่ารสชาติใช้ได้ ไม่จัดจ้านนัก แต่ก็เพลินพุงกันทุกคน
(ติดต่อท่องเที่ยว-นอนโฮมสเตย์วังกรด พี่กระต่าย กลุ่มอนุรักษ์บ้านวังกรด 083-1630084)
นับเป็น 5 จุด ในพิจิตรที่มาเยือนแล้วได้ทั้งความรู้สึกและแรงบันดาลใจดีๆ ทำให้วันนี้ความทรงจำของพิจิตร ก็ไม่ได้มีเพียงชื่ออีกต่อไป