เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงข่าวประกาศความร่วมมือครั้งแรกของไทย ในการยกระดับรถทัวร์ไทยให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ ภายใต้ชื่อ “บขส. มอบของขวัญปีใหม่ ยกขบวนชวนพนักงานเผือก เพื่อรถทัวร์ปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศ” พร้อมเปิดตัว “ทีมพนักงานเผือก” จากพนักงาน บขส. ที่ผ่านการอบรมการสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเมื่อมีผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศ
นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์กรแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะของ บขส. 8-9 หมื่นคน/วัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีผู้หญิงไม่น้อยตกเป็นเป้าการถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่กล้าตอบโต้ ซึ่งหากตกเป็นผู้ถูกคุกคามทางเพศหรือเห็นผู้อื่นถูกคุกคาม ทั้งผู้โดยสารและพนักงานของ บขส. ช่วยยุติการคุกคามทางเพศได้ โดยการ “เผือก” หรือเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดการคุกคาม เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ จึงร่วมกับ บขส. เสนอมาตรการลดการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ 3 แนวทาง คือ จัดอบรมพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น รวมทั้ง ทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์วิธีรับมือสถานการณ์สำหรับผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามทางเพศด้วย
“ปี 2560 สำรวจพบว่า 45% ของผู้หญิงที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเคยถูกคุกคามทางเพศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ มีประชาชนเดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก เชื่อว่าผู้โดยสารจะเดินทางด้วยความอุ่นใจมากขึ้น เพราะพนักงานบริการบนรถ มีองค์ความรู้ทั้งในเชิงการประเมินสถานการณ์ การเข้าแทรกแซง รวมทั้งหากผู้โดยสารที่ถูกคุกคามสามารถดำเนินการทางกฎหมาย สามารถแจ้งส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ตั้งเป้าว่าจะขยายความร่วมมือ ไปยังหน่วยงานขนส่งสาธารณะหรือหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งภายใต้กระทรวงคมนาคม เช่น กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก” น.ส. รุ่งทิพย์กล่าว
ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบ่อยบนระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง โดยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพศต่างๆ เคยถูกคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ อายุมากสุด คือ 74 ปี และอายุน้อยสุด คือ 12 ปี โดยเป็นเพศหญิงทั้งสองกรณี การคุกคามทางเพศทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม จึงเป็นภารกิจของ สสส. ที่จะสนับสนุนให้การพัฒนา และเสริมศักยภาพกลไกปัญหาการคุกคามทางเพศ รวมทั้งหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและคนทุกเพศวัย รวมทั้งการสื่อสารรณรงค์ในแคมเปญจ์ “เผือก” ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปค่อนข้างมาก มีการเสนอแนวทางและวิธีการง่ายๆ ในการเข้าช่วยเหลือ แทรกแซกการคุกคามทางเพศ เช่น ตะโกนส่งเสียง หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย แจ้งพนักงานรถโดยสาร ทำเป็นทีว่ารู้จักผู้ถูกกระทำ เป็นต้น ทั้งนี้ตนเองเห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศไม่เฉพาะบนระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่รวมถึงทุก ๆ พื้นที่ในสังคมด้วย สำหรับความร่วมมือระหว่าง สสส. ภาคีเครือข่ายฯ และ บขส. ประกอบด้วย
- การเสริมศักยภาพพนักงานประจำรถ บขส. ด้านความรู้ความเข้าใจ และทักษะเบื้องต้นในการป้องกันการคุกคามทางเพศ
- พัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองของพนักงาน บขส.
- การสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้ปัญหาการคุกคามทางเพศรูปแบบต่าง ๆ พร้อมข้อมูลแหล่งความช่วยเหลือหรือแจ้งเรื่องร้องเรียนทั้งบนรถ บขส. และช่องทางออนไลน์อื่นๆ
นางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า นอกจากเครือข่ายฯ จะจัดอบรมพนักงาน บขส. แล้งยังเปิดเว็บไซต์ E-learning เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับแนวทางการ “เผือก” หรือเข้าแทรกแซงเมื่อพบเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ เพราะพนักงานของ บขส. มีจำนวนมาก และมีพนักงานเข้าออกในตำแหน่งงานต่าง ๆ อยู่ตลอด การจัดฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด ขณะเดียวกัน บริการขนส่งสาธารณประเภทอื่นก็มีปัญหาการคุกคามทางเพศ การมีช่องทาง E-learning จึงเปิดโอกาสให้พนักงานของหน่วยงานขนส่งสาธารณะอื่นสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วย โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมสื่อการเรียนรู้ได้ที่เว็บไซต์ teampueak.org แล้วคลิกเลือก “พนักงานเผือก” ก็จะพบสื่อการเรียนรู้รูปแบบและตัวอย่างการคุกคามทางเพศที่พบบ่อยบนขนส่งสาธารณะ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคาม และแหล่งช่วยเหลือที่เป็นตัวช่วยสำหรับพนักงานในการระงับเหตุ นอกจากนี้ ยังมีแบบทดสอบให้ทดลองทำด้วยตัวเอง พร้อมเฉลยและคำอธิบาย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของพนักงานในการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศด้วย
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได่ร่วมมือกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ในการออกมาตรการและวิธีการที่หลากหลายและเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นบนรถในระบบของ บขส. โดยมาตรการเหล่านี้ถือเป็นของขวัญจาก บขส. ที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการในช่วงปีใหม่ โดยส่งพนักงานชุดแรกเข้ารับการอบรมแนวทางการรับมือและให้การช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคามทางเพศ การฉายวิดีโอประชาสัมพันธ์บนรถโดยสารของ บขส. ทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือกับปัญหาและแหล่งให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารจำนวน 480 คัน และรถร่วมของบริษัทเอกชนที่อยู่ในความดูแลของ บขส. กว่า 4,000 คัน มีเจ้าหน้าที่ 2,800 คน โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2562 พนักงานและรถในระบบของ บขส. จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ทั้งหมด
“วิธีแก้ปัญหาในส่วนของพนักงาน บขส. ที่ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อเพื่อนพนักงาน มี 2 ขั้นตอน คือ ถูกร้องเรียนครั้งแรก จะถูกตักเตือนและภาคทัณฑ์ ถูกร้องเรียนครั้งที่ 2 จะถูกไล่ออกสถานเดียว โดย 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 1 กรณีเท่านั้นที่ถูกไล่ออก จึงย้ำกับพนักงานผู้หญิงว่า หากประสบเหตุสามารถร้องเรียนได้ตลอดเวลา ส่วนกรณีการคุกคามทางเพศระหว่างผู้โดยสารกับผู้โดยสารนั้น บขส. ได้จัดให้มี Save Zone สำหรับผู้โดยสารหญิงนั่งคู่กับผู้หญิง หลีกเลี่ยง และป้องกันเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารผู้หญิงอาจถูกผู้โดยสารชายลวนลาม ทำให้ที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นกัน”นายจิรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ บขส. เตรียมออกมาตรการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารใน 3 ด้าน คือ 1. การป้องปราม โดยอยู่ระหว่างการเสนอขอติดตั้งกล้อง CCTV ทั้งภายในรถและหน้ารถ 2. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมในการรับมือ และมีเทคนิควิธีการในการดูแลผู้โดยสารและดูแลตนเอง และ 3. พัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้มีความสะดวกมากขึ้น จากเดิมร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ บขส. “transport.co.th” และฮอตไลน์ 1490 จะเพิ่มช่องทางร้องเรียนผ่านคิวอาร์โค้ดซึ่งจะติดไว้บนรถทุกคัน