กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามช่วงอายุที่กำหนด ป้องกันเด็กป่วยด้วยโรคหัด และคาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ทั่วถึง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยในปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 11 พ.ย. 61 พบว่ามีผู้ป่วย 4,402 ราย เสียชีวิต 18 ราย โดยในกลุ่มผู้เสียชีวิตนั้น เป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 10 ราย ผู้ป่วยเข้าข่ายที่อยู่ในระหว่างรอผลตรวจฯ 8 ราย ภาคใต้เป็นภาคที่พบผู้ป่วยโรคหัดสูงสุด โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และมักจะพบในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 1 ปี
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (วันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 61) คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ทั่วถึง ประกอบกับธรรมชาติของโรคหัดที่สามารถติดต่อได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเล็ก
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยเชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และในอากาศ ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีไข้ ไปจนถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ แสบตา ตาแดง ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจะมีผื่นลักษณะนูนแดงขึ้นจากหลังหูลามไปที่ใบหน้าและทั่วร่างกาย ผื่นจะคงอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งโรคหัดเป็นโรคที่อันตรายในกลุ่มเด็กทารกหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อน หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรคและหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย ในเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง คือครั้งแรกที่อายุ 9-12 เดือน โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม และให้วัคซีนซ้ำอีกครั้งที่อายุ 2 ปีครึ่ง สำหรับผู้ป่วยถ้าพบว่ามีไข้สูง เริ่มมีอาการไอมากหรือหอบเหนื่อย โดยอาจมีผื่นขึ้นหรือไม่ก็ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422