ผ้าจกเมืองลอง หรือที่เรียกกันว่า ผ้าตีนจกไท-ยวน เป็นผ้าพื้นเมืองของชุมชนที่อาศัยบริเวณ จ.แพร่ ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองมีลักษณะเด่น คือ มีลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ มีหัวซิ่นที่ใช้ผ้าขาวและแดงต่อกัน ตัวซิ่นมีลายทางขวาง และตีนซิ่นหรือตีนจกใช้เทคนิคการจก มีวิธีในการควักหรือดึงเส้นด้ายขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย เข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ไม้ขนเม่นหรือนิ้วมือจกด้ายเส้นยืนยกขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป จึงสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าได้สลับซับซ้อนหลากสีสันตามจินตนาการ โดยเมื่อนำทั้งสามส่วนมาต่อกันจะเรียก “ซิ่นตีนจก”
นอกเหนือจากลวดลายที่เป็นจุดเด่นของผ้าจกเมืองลองแล้ว ความพิเศษอยู่ที่เมื่อทอผ้าใกล้จะหมดผืน คนทอจะทำเครื่องหมายเป็นลวดลายพิเศษประจำตัวตรงตะเข็บแต่ละผืน เป็นเครื่องหมายเฉพาะของผู้ทอ เรียกว่า “หมายซิ่น” เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือป้องกันการถูกลักขโมย เป็นกุศโลบายของคนโบราณในการทำเครื่องหมายแสดงลิขสิทธิ์ของตัวเอง
ขอเชิญผู้ที่รักงานผ้าไทย พบกับเอกลักษณ์ความเป็นผ้าจกเมืองลองที่ไม่มีใครเหมือน ฝีมือครูประนอม ทาแปง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพลนารี ฮอลล์
มาทดลองนุ่งซิ่นผ้าจกเมืองลองซักครั้ง แล้วจะค้นพบเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม