แม้หลายพื้นที่จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาตลอดจนเดือนมกราคม ประเทศไทยก็ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ และเกิดน้ำท่วมขังในหลายบริเวณ อันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และในช่วงนี้ยุงคนไทยจึงยังเสี่ยงโรคไข้เลือดออก จึงมีคำประกาศเตือนพร้อมวิธีป้องกันอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2562 (ระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 62) พบว่ามีผู้ป่วยรวม 715 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต นครปฐม และนครศรีธรรมราช กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ 15-24 ปี จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด ตั้งแต่วันที่ 1-17 ม.ค. 62 พบเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวน 6 ราย จากนครศรีธรรมราช 2 ราย นครราชสีมา สงขลา อุบลราชธานี และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย โดยพบว่ามีสาเหตุจากการได้รับการรักษาล่าช้า 3 ราย ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว 2 ราย และ 1 รายพบว่าเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (วันที่ 20 – 26 ม.ค. 62) คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2561–มกราคม 2562 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังมีฝนตก โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ทำให้ประชาชนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้เลือดออกได้ โรคไข้เลือดออก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้สูงลอย 2-5 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หากหลังไข้ลดแล้วมีอาการซึม อาจเข้าสู่ภาวะช็อก เกิดภาวการณ์ไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย หากพบว่ามีอาการป่วย ควรรีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ธาลัสซีเมีย หัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง หรือผู้เคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงได้ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422