สื่อในปัจจุบันมีอิทธิพลในการใช้ชีวิตของผู้คน และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย แต่สังคมออนไลน์หรือความว่องไวของโลกอินเตอร์เน็ต ก็มีด้านมืดที่เป็นภัยต่อสุขภาพทั้งกายและใจของเยาวชน จนอาจชักนำไปสู่สิ่งชั่วร้าย วันนี้เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนให้มีทักษะรู้เท่าทันสื่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงาน ‘เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีชีวิตชีวา Spark U Lanna’ ภายใต้โครงการ Spark U Lanna โดยมีภาคีเครือข่าย 3 ภูมิภาค ร่วมถ่ายทอด นำเสนอ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้วยกระบวนการสื่อ และพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ สู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเติบโตมาในยุคดิจิทัล มีพฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะในทุกมิติ ดังนั้น การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ อารมณ์ สังคม และปัญญา จึงควรส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีทักษะเท่าทันสื่อ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่มีความรับผิดชอบและสำนึกต่อส่วนรวม เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ดังเช่นกลุ่มเครือข่าย Spark U Lanna ที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้เด็กเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ประเด็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมือง การฟื้นฟูอัตลักษณ์ตัวตนทางวัฒนธรรม การพัฒนาเยาวชนนักสื่อสาร ประกอบด้วย การเปิดตัวห้องสมุดสาธารณะ กิจกรรมการส่งเสริมการอ่าน การสื่อสารสาธารณะ และการสนับสนุนการจัดกิจกรรม
“เครือข่าย Spark U Lanna เป็นต้นแบบการทำงานจุดประกายเครือข่ายภาคประชาสังคม 3 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือผ่านเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และส่งต่อวัฒนธรรมข้ามภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด อันเป็นมิติการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ท้าทาย น่าสนใจและเต็มไปด้วยพลัง แรงบันดาลใจ เพื่อส่งต่ออัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคสู่สากล และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านให้มีความร่วมสมัยอย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะเห็นความมีชีวิตชีวาของเมืองสร้างสรรค์ ยังมีการร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนในระยะถัดไป” ดร.จิรพร กล่าว
ภายในงานยังมีนิทรรศการเมืองสร้างสรรค์ เมืองมีชีวิตชีวา ที่ประกอบไปด้วย นิทรรศการภาพถ่ายเมืองมีชีวิต ภาพเก่าเล่าเรื่องเหมืองฝายพญาคำ กิจกรรมปลูกลานปลูกหมาก และกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ อ่านดอยสุเทพ เยาวชนนักสื่อสาร งานสื่อสารและวารสารเอิ้นเน้อ สาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น
ติดตามความก้าวหน้ากิจกรรม Spark U Lanna, Facebook: Spark U Lanna, Website: www.sparkulanna.com และมาร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ครอบคลุมในทุกชุมชน