ผู้ที่มีอาการอะไรบ้าง ที่ไม่ควรนวด ?

28

การนวด เป็นการศาสตร์บำบัดความเมื่อยล้าและช่วยสร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายได้ดีทีเดียว ทั้งยังช่วยลดอาการเจ็บปวดในบริเวณที่นวดได้ แต่ขณะเดียวกัน ทุกอย่างย่อมเป็นดาบสองคม และการนวดก็มีข้อยกเว้นในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาบางอย่าง ซึ่งก็มีดังนี้

1. ผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด (โรคฮีโมฟีเลีย) เพราะการนวดคือ การเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ถ้าหากมีอาการของทั้ง 2 โรคนี้ อาจพบอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง รวมทั้งเกิดเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ และกล้ามเนื้อ ถ้าหากเลือดออกมาก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการช็อค และเสียชีวิตตามมาภายหลังได้

2. ผู้ที่มีปัญหากับสันหลัง และไขสันหลัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จริงอยู่ว่าวิธีการรักษา สามารถใช้วิธีการนวดเป็นทางเลือกได้ แต่ต้องมั่นใจว่าผู้นวดมีความเชี่ยวชาญ หรือความชำนาญในการรักษาจริง ๆ เพราะถ้าหากนวดผิดจุด ก็อาจทำให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนตัว หรือยุบตัวลงไป ทำให้เกิดความเจ็บปวดและอันตรายที่รุนแรงขึ้น

3. ผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องของลิ่มเลือดในหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากการมีไขมันอุดตันอยู่ในหลอดเลือดจำนวนมาก ส่วนมากมักจะพบที่บริเวณน่อง และแน่นอนว่าการนวดก็จะต้องมีการนวดที่น่องแรง ๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็อาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่ปอดซึ่งจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตอีกด้วย

4. ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงผู้ที่มีปัญหากระดูกเปราะ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ หากได้รับการนวดที่ออกแรงมาก ๆ อาจเป็นเหตุทำให้กระดูกแตกหรือหักได้ ดังนั้นคนที่เป็นโรคดังกล่าวนี้จึงไม่ควรนวดเป็นอันขาดนั่นเอง

5. ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง ชนิดที่มีการติดต่อ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด เมื่อมานวดก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (เนื่องจากอาจมีการใช้อุปกรณ์บางอย่างร่วมกัน เช่น ยานวด หรืออุปกรณ์นวด) รวมถึงผู้นวด ดังนั้นถ้าพบว่าตนเองกำลังป่วยด้วยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อไปสู่กันได้อยู่ ไม่ควรนวดเด็ดขาด

6. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออักเสบ รวมถึงปัญหาข้ออักเสบ ในขณะที่ยังมีอาการอยู่ ไม่ควรนวดเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้มีอาการอักเสบ และบวมแดงที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้พบอาการไข้ได้ในภายหลัง

7.ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดมา คนที่เพิ่งผ่าตัด แล้วแผลยังปิดไม่สนิท การนวดอาจทำให้แผลปริตก รวมถึงอาจทำให้แผลมีอาการอักเสบมากกว่าเดิม จึงควรหลีกเลี่ยงการนวดและรอให้แผลหายดีก่อน แล้วถึงจะนวดได้

8. ผู้ที่พึ่งทานยาแก้ปวด ตั้งแต่ 1-120 นาทีแรก ยาแก้ปวดจะทำหน้าที่ในการคลายกล้ามเนื้อบางส่วน ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการชา ต่อให้ออกแรงนวดอย่างไรก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วอาจจะรู้สึกเจ็บจนถึงขั้นกล้ามเนื้ออักเสบจากการออกแรงกดของผู้นวด จึงไม่นวดทันทีหลังจากที่พึ่งจะทานยาแก้ปวดไปนั่นเอง

9. ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด ไม่ควรนวดในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด เพราะการนวดจะส่งผลให้เชื้อโรคมีการกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจมีการแพร่กระจายเข้าสู่เส้นเลือดและน้ำเหลือง จึงอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

10.ผู้ที่ไม่สบาย ป่วยเป็นไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38.5 องศาขึ้นไป ไม่ควรนวดเป็นอันขาด เพราะในช่วงนี้ร่างกายจะอ่อนแอลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าหากมีการนวดที่ต้องออกแรงมาก ก็อาจเป็นผลทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่มากขึ้นกว่าเดิม และถ้าหากอาการอักเสบนั้นรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นต้องไปตรวจร่างกายในโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว

11.ผู้หญิงที่มีประจำเดือน แล้วเกิดความรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อยากจะนวดนั้น ต้องรอจนกว่าประจำเดือนหมดเสียก่อนถึงจะนวดได้ เพราะถ้าหากนวดในช่วงที่ประจำเดือนมา หรือประจำเดือนใกล้จะหมดนั้น อาจทำให้มีเลือดออกมาผิดปกติ หรือเกิดความแปรปรวนจากปัญหาเลือดลมภายในร่างกาย บางรายอาจถึงขั้นมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมากับประจำเดือนด้วย และถ้าหากว่านวดไม่ถูกต้องหรือนวดอย่างรุนแรงจนกล้ามเนื้ออักเสบ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เป็นโรคไข้ทับระดู ที่ก่อให้เกิดอาการปวดกระดูกและเป็นไข้อย่างรุนแรงได้นั่นเอง

ถึงแม้ว่าการนวด จะมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันก็มีผลเสียอีกมากมาย ใครที่มีปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมานี้ ควรหยุดนวดไปก่อนจนกว่าจะหาย หรือถ้าอยากนวดจริง ๆ ก็ควรนวดให้เบามือที่สุด พร้อมกันนี้ก็ควรเลือกหมอนวดที่มีความชำนาญและความเชี่ยวชาญ พร้อมกับเลือกสถานที่นวดที่ได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการนวดได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.honestdocs.co/