TMB แนะกลยุทธ์วางหมากธุรกิจ พิชิตเศรษฐกิจโลก ปี 2562

24
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี

TMB แนะกลยุทธ์วางหมากธุรกิจ พิชิตเศรษฐกิจโลก ปี 2562 ชี้ EEC เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จัดงาน TMB The Economic Insight 2019 ‘เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล’ เพื่อให้บริการด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจ จำนวน 400 ราย โดยเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน พร้อมชี้ว่าในปี 2562 ผู้ประกอบการไทยควรปรับกลยุทธ์หาตลาดใหม่ๆ พร้อมพัฒนานวัตกรรมสร้างความต่างและเครือข่ายการผลิต นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาช่องทางการลงทุนในโครงการ EEC เพราะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมศักยภาพแห่งอนาคตที่พร้อมรองรับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม และมากไปด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ ทีเอ็มบี วางแผนจัดกิจกรรมเพื่อลูกค้าธุรกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ทีเอ็มบี มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพและคุณค่าแก่ลูกค้าธุรกิจอยู่เสมอ ด้วยเชื่อมั่นว่าธุรกิจไทยคือรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ ทีเอ็มบี จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่าธนาคาร แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินการธนาคารผ่านบทวิเคราะห์และคำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจของเรา”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า “สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการ EEC จะมีส่วนยกระดับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ได้อย่างยิ่ง จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโครงการ EEC ยังสามารถรองรับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพิ่มอีกจำนวนมาก จากตัวเลขรายรับที่ผู้ลงทุนได้เก็บเกี่ยวจากการลงทุน ประกอบกับช่องทางการรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอันจะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โอกาสทองที่พร้อมให้ผลตอบแทนในระยะยาวแก่นักธุรกิจไทยจึงอยู่เพียงแค่เอื้อม”

ทีเอ็มบี ชี้ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีทีท่าชะลอตัวขนานใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ (1) ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ที่ส่งสัญญาณภาคเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle (2)) ระดับราคาน้ำมัน และค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2561 (ราคาน้ำมันโลกลดลงถึง 35% จาก 83 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรล สู่ 53.8 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรลเมื่อปลายปี 2561 ขณะที่ค่าดัชนี PMI ลดลงตลอดทั้งปี 2561 จาก 54.5 สู่ 51.5) และ (3) สถานการณ์บีบคั้นของจีน ทั้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้ค่าดัชนี PMI ของบริษัททุกขนาดติดลบ และความพยายามรัดเข็มขัดเพื่อปรับลดระดับหนี้ของประเทศลง (จีนมีระดับหนี้ 267% ของจีดีพี เป็นหนี้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 162% ของจีดีพี รวมถึงมีหนี้นอกระบบที่ต้องจัดการ) นอกจากนี้สภาพตลาดหุ้นที่ราคาตกต่ำ ก็ทำให้ระดับความมั่งคั่งของคนจีนเริ่มมีปัญหา

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในปี 2562 จะขยายตัว ด้วยแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก อัตราการเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น สำหรับการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2561 เนื่องด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปีนี้มีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ CMLV (+9.0%), อาเซียน (+6.5%), ญี่ปุ่น (+5.5%), ยุโรป (+4.5%) และสหรัฐอเมริกา (+4.5%) ตามลำดับ มีสินค้าส่งออกที่โดดเด่น คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เครื่องจักร, สินค้าอาหาร และสินค้าจากการเกษตร

จากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว…ธุรกิจไทยยังคงมีโอกาสที่ดี โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ด้วยอัตราค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (เมื่อเทียบกับ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์) และระดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูง (Ease of doing business ranking ในปี 2561 ไทยอยู่อันดับ 26 ซึ่งสูงกว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน) นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับกลยุทธ์ เช่น มองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ พัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมสูงขึ้น สร้างความแตกต่างของสินค้า ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ บีโอไอ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

โดยโอกาสทองที่สำคัญ อยู่ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อยอดจาก Eastern Seaboard ซึ่งมุ่งพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง โดยโอกาสทางธุรกิจอันดีมี 2 ส่วน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ EEC เป็นเม็ดเงินมูลค่า 988 พันล้านบาท การก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงงาน โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง มูลค่า 220 พันล้านบาท, เมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 300 พันล้านบาท, ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 มูลค่า 110 พันล้านบาท และท่าเรือมาบตะพุดเฟสที่ 3 มูลค่า 55 พันล้านบาท

ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วยกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกลุ่ม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มพื้นที่โครงการ EEC ได้ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งนี้ในช่วงปี 2559 จนถึงเดือนกันยายน ปี 2561 ได้มีโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเป็นมูลค่ารวม 913 พันล้านบาท และกรอบระยะเวลาในช่วงปี 2018-2023 การลงทุนผ่านบีโอไอในโครงการ EEC มีมูลค่ารวม 600 พันล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาท และ 2.83 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยมีมาตรการส่งเสริมโครงการ EEC อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%