ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาคการศึกษา อันเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ต่างได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก และนี่คือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ที่หมายถึงการทลายกำแพงเดิมๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง
ไม่นานมานี้ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ NIDA จัดงาน การประชุมวิชาการธุรกิจระหว่างประเทศครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2562 เตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “Transforming Business to the Future” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล เฟ้นหากลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ อาทิ รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, Thomas Robinson (คุณโทมัส อาร์ โรบินสัน) President and Chief Executive Officer, AACSB, Hillol Bala (ฮิลลอล บาลา) PH.D. Associate Professor of Information Systems, and Co-Director of the IDE, Kelley School of Business, Indiana University, ศาสตราภิชาน ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.จีราวรรณ บุญเพิ่ม กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคุณชุติมา ศรีบำรุงศาสตร์ Country Head of Human Resources, Microsoft (Thailand) Limited
ยุคที่ใบปริญญามีค่าน้อยกว่าความสามารถ
ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า ในยุค Disruption ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเข้ามาของธุรกิจรูปแบบใหม่ ส่งผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งภาคการศึกษา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้คนสามารถหาความรู้ได้ง่ายขึ้นจากทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นความสำคัญของใบปริญญาจะลดลงไป แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะมีความสำคัญมากขึ้น
ดังนั้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อการแข่งขันของสถาบันการศึกษา ไม่เพียงแค่การแข่งขันภายในประเทศ แต่หมายถึงการแข่งขันกับสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งมองหาช่องทางใหม่ในการขยายจำนวนผู้เข้าเรียน โดยมีประเทศทางฝั่งเอเชียเป็นเป้าหมาย
คณะบริหารธุรกิจ นิด้า มีการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาหลักสูตร MOC (Microeconomics of Competitiveness) โดยใช้รูปแบบอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ และกรณีศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยการสนับสนุนให้แต่ละคณะร่วมพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่รองรับตลาดในปัจจุบันร่วมกัน นอกจากนั้นยังร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในหลักสูตร “วิศวกรรมการเงิน” อันเป็นสาขาอาชีพที่มีความต้องการสูงในตลาด เป็นต้น
เคยเด่นเคยดัง อาจพังเพราะไม่ปรับ Business Model
รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ Digital Disruption ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน อาทิ Airbnb Grab LINEMAN พร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ทั้ง AI , Blockchain, IOT ทำให้การเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเช่นเดียวกับทุกภาคส่วนที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ยกตัวอย่างง่ายๆ จากเดิมที่คนเคยอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เป็นสื่อหลัก แต่ปัจจุบัน ทุกอย่างอยู่ในโซเชียลมีเดีย อยู่ในสมาร์ทโฟน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในภาคส่วนไหน ก็จะพบกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องรับมือ คือการปรับตัว เพราะนี้คือเรื่องปกติของความเปลี่ยนแปลง ดังที่เราทราบว่า นับพันชีวิตที่เคยมีในโลกเมื่อล้านปีที่แล้ว คงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียง 1 สปีชีส์เท่านั้น ธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อ 100 ปีก่อน มีเพียง 10% ที่ยืนหยัดมาได้ถึงวันนี้ ดังนั้น ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ ต้องมีความสามารถในการปรับ Business Model ท่ามกลางการเกิดขึ้นของรูปแบบใหม่ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Airbnb Uber Line ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นหมื่นเป็นแสนล้านได้ภายในไม่กี่ปี”
ใช้แรงถอยไป ต้องใช้สมองแข่งกับ AI
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในความเปลี่ยนแปลงนี้ คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนแรงงานมนุษย์ ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคการศึกษาเองจำเป็นต้องทบทวนว่า จะใช้รูปแบบการสอนแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะความรู้ในทุกวันนี้อยู่ในอินเตอร์เน็ต บทบาทของห้องเรียนจึงลดน้อยลงไป ขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง แต่สถาบันการศึกษามีจำนวนมากขึ้น
“ Degree อาจจะมีความสำคัญน้อยลง แต่ Skill จะมีความสำคัญมากขึ้น อาจจะไม่สำคัญแล้วว่า คุณจะจบอะไรระดับไหน แต่สำคัญว่าคุณทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นภาคการศึกษาต้องรู้ว่า ทักษะความสามารถที่นักศึกษาในยุคนี้ต้องมีคืออะไร ดังที่เราจะเห็นว่า ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในปัจจุบัน มีอายุน้อยลง และไม่จำเป็นต้องจบปริญญาโท ปริญญาเอกเลย ภาคการศึกษาจึงต้องปรับตัวอย่างหนัก”
รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI, IOT จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เห็นได้ชัดคือ อาชีพที่ต้องทำงานซ้ำๆ เช่น ภาคการผลิต หรือ งานที่มีระบบวางไว้แล้ว ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลกรุงเทพ มี AI ช่วยอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ใช้เอไอในการตรวจเกรด สถานีโทรทัศน์ในจีนใช้เอไอในการรายงานข่าว ฯลฯ
“ผมมีโอกาสไปเยี่ยมโรงงานที่เซินเจิ้น เคยมีคนงาน 1,000 คน ตอนนี้เหลือ 8 คน ซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่ควบคุมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สิ่งที่เอไอ ยังทำไม่ได้ คือ ความคิดและการสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษาจึงต้องหลุดพ้นจากการสอนให้รู้และจดจำ ไปสู่ทักษะแห่งการสร้างสรรค์ ทักษะในการแก้ปัญหา และทักษะในการติดต่อสื่อสาร เพราะการทำงานในปัจจุบันจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งงานที่ต้องทำร่วมกับเอไอ
ไม่มีคำว่าศิษย์เก่า การเรียนรู้ต้องไม่จบสิ้น
ปัจจุบันในบางคณะไม่มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนแล้ว นั่นคือความท้าทายของสถาบันการศึกษาที่ต้องมองถึงอนาคต คงไม่มีอีกแล้ว วิชาหรือหลักสูตรใด ที่จบออกไปแล้วจะใช้ได้ตลอดกาล จบปริญญาเอกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะหยุดแค่นั้น ผมพูดได้เลยว่า ความรู้ที่ใช้สอนนักศึกษาในวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา แต่เป็นสิ่งที่ต้องค้นคว้าเพิ่ม จึงอยากสนับสนุนแนวคิด Lifelong Learning การเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น เพื่อพัฒนาและมองหาความรู้ความสามารถใหม่ๆ ดังนั้น สมาคมศิษย์เก่า อาจจะไม่จำเป็น เพราะทุกคนต้องเป็นศิษย์ปัจจุบัน มีหน้าที่ต้องกลับมาทบทวน อัพเดท ความรู้อยู่เสมอ ทุกคนต้องทำตัวเป็นน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้ว พร้อมเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับมุมมองของประเทศไทย ซึ่งมีรากฐานจากเกษตรกรรม รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน ให้ความคิดเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน การปรับตัวคือหน้าที่ของทุกคน เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะเข้ามายกระดับและเพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกธุรกิจ จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนา ยังคงใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรม 90% เทคโนโลยี 10% ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการใช้เทคโนโลยี 90% อาทิ จีน ซึ่งใช้โดรนในการโรยปุ๋ย ใช้เอไอในการวิเคราะห์ผลผลิต เป็นต้น
“เกษตรกรไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว หากปรับไม่ทันก็อาจส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขัน และเข้ากฎของวิวัฒนาการที่ว่า ใครที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องสูญพันธุ์ไป ไม่อยากให้เรามองแค่ว่า ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมหรือการท่องเที่ยว เพราะทั้งสองภาคส่วนคือการใช้ทรัพยากร เมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมมีโอกาสหมดไป ภาคการท่องเที่ยวที่ดึงรายได้เข้าประเทศมากๆ แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วออกไปพร้อมการสร้างมลภาวะ ในอนาคตเราจึงไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้เพียงอย่างเดียว ต้องมีการพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ของประเทศให้เกิดขึ้นด้วย”
Content คือ ของฟรี เนื้อหาดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในสื่อหลัก
ในด้านธุรกิจสื่อ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงมาก จาก Digital Disruption ดังนั้น ธุรกิจสื่อในวันนี้ต้องมีการทบทวน Business Model เพราะปัจจุบัน Content คือ ของฟรี จากเดิมที่เคยพึ่งพาค่าสมาชิก หรือค่าสปอนเซอร์ จึงไม่สามารถทำได้อย่างเก่า
“ยกตัวอย่าง New York Times เป็นสื่อหนึ่งที่มีการปรับตัวดีมาก นำเข้าสู่รูปแบบของ Digital Content มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประกอบ วันนี้รูปแบบของสื่อเปลี่ยนไป เนื้อหาไม่จำเป็นต้องมาจากสื่อหลัก หากมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อหลักอีกแล้ว สื่อจึงอาจจะต้องมีความร่วมมือกับโซเชียลมีเดีย เชื่อมโยงกับโซเชียลคอนเท้นต์ อาศัยช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่กับโซเชียลมีเดีย และโมบายแอปพลิเคชั่น”
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาครวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ถือว่ายังเติบโตขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเติบโตได้ดี หากเปรียบเทียบกับตัวเลขในภูมิภาค ธุรกิจประเภทต่างๆ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่าๆ กัน แต่สภาวะการแข็งขันไม่เท่ากัน โดยธุรกิจที่มีการแข็งขันสูง อาทิ ธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ วิทยุและสิ่งพิมพ์ มีการแข่งขันดุเดือดมาก จึงมีการคิดรูปแบบรายการ และคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ชมและผู้ฟัง เพื่อแย่งชิงชิ้นเค้กจากเม็ดเงินโฆษณา แต่แม้ว่าจะมีการแข่งขันดุเดือดมากเพียงใด ธุรกิจสื่อยังถือว่าเติบโตได้ดี โดยวัดจากปริมาณคนดูที่เพิ่มขึ้น และเม็ดเงินในการโฆษณาที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน กล่าวในตอนท้ายว่า ธุรกิจดิจิทัล เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาคเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลกมากๆ เพราะดิจิทัลเข้ามาทำลายกำแพงเก่าๆ ของการทำธุรกิจทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป ตัวอย่าง เช่น Alibaba (อาลิบาบา) หรือ Lazada แต่สิ่งที่น่าสนใจที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน คือ สองบริษัทนี้ขาดทุนเหมือนกัน แต่มูลค่าที่ได้หมายถึง ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ซึ่งสามารถใช้ในการต่อยอดธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ ซึ่งนั่นหมายถึง “ดิจิทัล” ซึ่งส่งผลต่อเทคโนโลยีทางการเงินหรือธนาคารนั่นเอง