ภาวะน้ำหนักในเด็ก มัธยมอ้วนสุด!  ปิดเทอมนี้ต้อง “ปฏิวัติ”

142

พัฒนาการของอาหารการกินสมัยนี้ มาในหลากรูปแบบหลายช่องทาง ชี้ชวนให้ชิมกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมื้อหลัก มื้อว่าง หรือแค่เวลาที่เหงาปาก แถมยังสะดวกสบาย กินกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องเป็นห่วงบุตรหลาน ตุนเสบียงไว้เต็มตู้เย็น ส่วนพฤติกรรมของเด็กในปัจจุบัน ก็ยังตกอยู่ในภาวะติดจอ ทำให้ช่วงเวลาของการเผาผลาญถูกดึงไปด้วย เหล่านี้ล้วนทำให้ตัวเลขของเด็กอ้วนยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งความอ้วน ไม่ได้ส่งผลต่อบุคลิก แต่หมายถึงสุขภาพที่น่าห่วงยิ่งกว่ามาก

ล่าสุด สสส.-สช.-สพป.กทม.-วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.รังสิต จับมือส่งเสริม “เด็กไทยดูดี 4.0 พัฒนาครูผู้นำสุขภาพ 4.0 พร้อมปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม เผยนักเรียนสังกัดกทม. – เอกชนเสี่ยงภาวะอ้วน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมเอกชนอ้วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า พบสัญญาณเตือนไขมันในเลือดสูง 66% ความดันสูง 30% และเบาหวาน 10% จับตาปิดเทอมเด็กไทยน้ำหนักเพิ่ม ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น จัดเวลาออกกำลังกาย ไม่นอนดึก

โครงการเพิ่มช่องทางแหล่งเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารและการออกกำลังกายเพื่อเด็กไทยดูดี 4.0 โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) ได้จัดงานแถลงข่าว “เด็กไทยดูดี 4.0 : ปิดเทอมนี้ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น”

ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์

ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานมัย กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะอ้วนในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐสังกัดสพฐ. กทม 5 โรงเรียน ในปี 2561 พบว่าเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนถึง 16% และในโรงเรียนเอกชนประถมอ้วน 19% และมัธยมอ้วน 34% ซึ่งสูงกว่าเด็กอ้วนทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า ทั้งประเทศอยู่ที่ 12% เด็กอ้วนเหล่านี้พบว่ามีไขมันในเลือดสูงถึง 66% ความดันโลหิตสูง 30% และยังพบน้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานอีก 10% ซึ่งภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สะสมตั้งแต่วัยเด็ก ที่ผ่านมาแม้จะมีแนวทางป้องกันและได้ผลในระดับหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายประถมสพฐ. โดยใช้เวลากว่า 10 ปีในการลดอัตราอ้วนจาก 21% เหลือ 15% ในปี 2560 แต่มักกลับมาใหม่ในช่วงปิดเทอม

โดยปี 2561 อัตราอ้วนกลับมาที่ 16% การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องใช้การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ซึ่งในโรงเรียนเอกชนมีปัญหาโภชนาการเกินในอัตราสูงกว่าภาครัฐทั้งในกทม. และส่วนภูมิภาค โครงการเด็กไทยดูดี ฯ ในปีนี้จึงสร้างครูผู้นำสุขภาพ 4.0 โดยมีโรงเรียนเอกชนทั้งในกทม. และส่วนภูมิภาค สมัครเข้าร่วมราว 40 โรงเรียน โดยการสนับสนุนของ สสส. สช. และสพป.กทม. เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้จัดการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า แนวโน้มเด็กอ้วนเป็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ซึ่งผลการศึกษาประเทศที่มีมาตรการที่ประสบผลสำเร็จของการลดภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก เช่น อังกฤษ ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ผู้ปกครอง เพื่อน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และสื่อ ซึ่งการปรับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัดเอกชนและโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ในพื้นที่กทม. โดยสสส.ยินดีสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการ การรณรงค์สื่อสารสู่สังคม รวมทั้งเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับเด็กวัยเรียน

สำหรับผู้ปกครองมีข้อแนะนำในช่วงปิดเทอมโดยเตรียมอาหารครบ 5 หมู่ให้ลูกอิ่มครบ 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งเป็นมื้อสำคัญ เมื่อลูกอิ่มจะลดพฤติกรรมกินจุบจิบลงได้ อาหารว่างที่ดี ได้แก่ ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ แนะนำการเตรียมผลไม้ควรหั่นหรือปอกเป็นชิ้นใส่กล่องเก็บในตู้เย็น ให้ดื่มนมสดรสจืด หรือเลือกนมพร่องมันเนยในเด็กที่อ้วน วันละ 2 กล่อง (ขนาด 250 มล.) และจัดน้ำเปล่าไว้แทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลมในตู้เย็น ให้เวลาออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง และไม่นอนดึก เพื่อให้ช่วงปิดเทอมของเด็กได้เจริญเติบโตแข็งแรงสมวัยด้วยพลังบวกจากการปฎิวัติตู้เย็นให้มีอาหารที่เป็นประโยชน์ และห่างไกลโรคอ้วน

นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เด็กโรงเรียนเอกชนมีภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป จึงร่วมกับสสส. และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในโครงการเด็กไทยดูดี 4.0 ด้วยการกำหนดนโยบายให้โรงเรียนที่เข้าร่วมหรือโรงเรียนในสังกัดลดการจำหน่ายอาหารทอด อาหารแปรรูป เบเกอรี่ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไปในโรงเรียน สนับสนุนให้มีการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัยเพิ่มขึ้น จัดหาน้ำดื่มสะอาดเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอส่งเสริมการออกกำลังกายเพราะแค่ชั่วโมงพลศึกษา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่เพียงพอ และสนับสนุนให้ครูมีทักษะความรู้มากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตั้งแต่อายุยังน้อย

ดร.สุทธิชัย เดชสุวรรณนิธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็ก ครู และผู้ปกครองมีความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีตั้งแต่วัยเรียนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้โดยเฉพาะเด็กในเมือง นอกจากนี้โปรแกรมสนับสนุนของโครงการเด็กไทยดูดีที่ให้กับครูยังเป็นเครื่องมือในการสอนเด็กรู้จักมีวินัย ทั้งวินัยในการกินเป็นเวลา รู้จักยับยั้งชั่งใจ และวินัยในการใช้เงิน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการใช้ชีวิตต่อไป