เผย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองครอบครัวฉบับใหม่ ฉับไวกว่าเดิม

52

เผย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองครอบครัวฉบับฯใหม่ เน้นเป็นงานนโยบายระดับชาติ ทำงานร่วมกัน ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่วนผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ส่วนผู้กระทำความรุนแรงมีบทลงโทษทางอาญา พร้อมรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ที่โรงแรมปรินซ์ตัน ปาร์ค สวีท ดินแดง กทม. (29 มีนาคม 2562) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่าย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดงานเวทีวิชาการ “เครือข่ายวิชาการครอบครัวศึกษา” ครั้งที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ….โดยมี นายเลิศปัญญา  บูรณบัณฑิต  อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายไตรรัตน์  ฟ้าปกาศิต  ผู้อำนวยการ นายสาโรช  นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว นางสาวสุเพ็ญศรี  พึ่งโคกสูง  ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กลุ่มกฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  ว่าที่ร้อยตรีหญิงอรุณศรี มีวงค์ธรรมผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เข้าร่วมงาน

นายเลิศปัญญา  กล่าวว่า จากข้อมูลของ พม.ที่ผ่านสายด่วน 1300 และ พมจ. พบว่าในปีที่ผ่านมา จะมีผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 1,500 ราย เพศหญิงจะเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดถึง 80%

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองครอบครัวฉบับฯใหม่ที่เกิดขึ้นมานี้ มีเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปิดช่องว่างของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ปี 50 โดยเฉพาะช่องว่างในเชิงปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และจะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับกล่าวทันทีที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้รับการลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ส่วนดีของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ จะมีกลไกการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว โดยมีศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวในทุกพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และประชาชนทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงสามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ฯได้ทันที รวมทั้งผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และยื่นขอความคุ้มครองจากศาลเยาวชนและครอบครัวได้ ส่วนผู้ที่กระทำความรุนแรงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกล่าวโทษเป็นคดีอาญาได้ทันที และผู้กระทำความรุนแรงสามารถเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการกำหนดบทบาทที่ชัดเจนจะช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และการทำงานจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเป็นนโยบายระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี รมว.พม.เป็นรองประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างเป็นคณะกรรมการและคณะทำงาน

“จากเดิมถ้าหากผู้ถูกกระทำไม่ร้องทุกข์ จะทำให้ผู้กระทำความรุนแรงเกิดได้ใจและมีแนวโน้มที่จะก่อกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงได้อีก ส่วนการเปิดโอกาสให้ผู้ที่กระทำความรุนแรงได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะช่วยให้ผู้นั้นก่อความรุนแรงลดน้อยลง”

ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวจะมีอยู่ในทุกพื้นที่ของ พมจ. รวมทั้งจะมีศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวระดับตำบลที่จะเป็นการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนอีกกว่า 7,000 แห่งเข้าร่วมดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นางสาวสุเพ็ญศรี  กล่าวว่า จากกฎหมายเดิมนั้นผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะต้องเป็นผู้ร้องทุกข์และยื่นคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเอง แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะมีศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือได้ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน หากรอช้าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือ จิตใจ ซึ่งไม่อาจขอต่อศาลได้ทันการณ์ หัวหน้าศูนย์ฯมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน48 ชั่วโมง

หากผู้กระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวกระทำความผิดทางอาญาต่อบุคคลในครอบครัว เช่น ทำร้ายร่างกาย กักขัง ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำความรุนแรงมีความผิดทางอาญาและพ.ร.บ.นี้ และในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความรุนแรงต้องเข้าสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเข้าเงื่อนไขในการคุ้มครองสวัสดิภาพ เนื่องจากผู้ที่กระทำความรุนแรงไม่ได้เกิดมาเพื่อกระทำความผิดโดยตรง และศาลอาจนำมาประกอบการพิจารณาเป็นเหตุให้รอการลงโทษหรือบรรเทาโทษได้ ดังนั้นจึงต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเยียวยาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว

ส่วนผู้เคยถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกกระทำซ้ำบ่อยจนเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง และลุกขึ้นต่อสู้กลับเป็นเหตุให้ผู้เคยกระทำความรุนแรงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สามารถยื่นคำแถลงเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล  ศาลอาจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

ด้าน นง (นามสมมติ)ผู้เคยได้รับการกระทำความุรนแรง ตัวแทนจากบ้านพักฉุกเฉิน   กล่าวว่า ผู้หญิงที่ขอรับความช่วยเหลือจากบ้านพักฉุกเฉิน เป็นผู้ที่ได้รับการกระทำความรุนแรงในด้านต่างๆ เช่น ทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว โดนข่มขืน หรือท้องไม่พร้อม เป็นต้น ให้บ้านพักฉุกเฉินช่วยเหลือ วันนี้ตนต้องขอขอบคุณทางบ้านพักฉุกเฉิน และ ป้าโก๋ หรือ นางสาวสุเพ็ญศรี  พึ่งโคกสูง  ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมที่เปิดโอกาสให้ตนเองได้เป็นตัวแทนได้เสนอความต้องการของผู้หญิงที่ถูกกระทำความความรุนแรงว่าต้องการให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ซึ่งทางเราได้มีการยื่นขอเสนอไปยังอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 7 ข้อ  เช่น ถ้าผู้ชายที่ทำผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วไม่รับสามารถรับการตรวจดีเอ็นเอได้ฟรี,ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหา,อยากให้มีบทลงโทษกับผู้ชายที่กระทำกับผู้หญิงอย่างเร่งด่วน ซึ่งเราได้ยื่นเรื่องไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วและได้รับการตอบรับจากท่านอธิบดีในปีที่สองและดำเนินการให้ในหลายๆเรื่อง

“ในวันนี้ตนอยากเห็นกฎหมายและการดำเนินงานเป็นรูปธรรมมมากขึ้น ทั้งตำรวจ พยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และอยากให้มีการแนะนำผู้หญิงในเรื่องของการได้รับความคุ้มครองให้มากขึ้น เพราะบางคนจะไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ ”

นง กล่าวว่า อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ว่า อยากให้สิทธิสตรีมีมากขึ้นชัดเจนมากขึ้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงและภรรยา และการดำเนินการทางกฎหมายให้มีความรวดเร็วมากขึ้น