5 จุด กินเที่ยวแดนหอยใหญ่ สด ใหม่ ไปมาหรือยัง

1717

ถ้าอยากจะเที่ยวกิน ให้ถึงถิ่น ถึงแก่นแท้ ผู้ที่นำทางให้เราก็ต้องเป็นคนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่จริง บรรดาร้านอาหารใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังประเภทที่มักพูดกันว่า “ถ้าพลาด ก็เหมือนมาไม่ถึง” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ค่อนข้างจะงงๆ อยู่เหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกสิ่งที่เกิดมาเพื่อเป็นสถานที่ “ห้ามพลาด” บางจุดบางแห่ง จะมาก็ดี ไม่มาก็ได้ หากมาแล้วก็คือ “มาถึง” ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้อะไร พลาดอะไรนั้น มันอยู่ที่ว่า มาแล้ว “เจอ” อะไรต่างหาก

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจังหวัดไหน แต่หนึ่งในคำขวัญที่ทุกคน “คุ้นหู” หรือ “จดจำได้” คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แค่ขึ้นว่า “เมืองร้อยเกาะ….” ก็ต่อกันไปได้ จนบางคนสามารถจำได้ดีกว่าจังหวัดตัวเองเสียอีก

เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างเกาะสมุย พะงัน หรือเกาะเต่า ซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แต่ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เป็นเจ้าถิ่นที่มีช่องทางในการเที่ยวกินได้ทะลุปุโปร่งกว่า วันนี้เราจึงมีจุดท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมานำเสนอ

1.ทั้งสดทั้งใหญ่ มีใครให้มากกว่านี้?

หากเป็นการประมูล คงต้องถามว่า “มีใครให้มากกว่านี้อีกไหมคะ” เพราะทั้งความสด และ ความใหญ่ ของ หอยนางรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขากินขาดไปหลายก้าว ถ้าเป็นการวิ่งก็เรียกได้ว่า “น็อครอบ” กันเลยทีเดียว

การคราดหอยแครง

และแหล่งใหญ่ของหอยใหญ่ในสุราษฎร์ ก็อยู่ที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในเขตของอ่าวบ้านดอน อันมีสภาพที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของหอย ทั้งหอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่

ขนำน้อยใหญ่กับฟาร์มหอย

อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี  มีความยาว 156 กิโลเมตร รวมอาณาบริเวณกว่า 400,000 ไร่ และกินพื้นที่ถึง 7 อำเภอ ถือเป็นแหล่งที่เลี้ยงหอยนางรมมากที่สุดในเมืองไทย โดยเฉพาะที่ อ.กาญจนดิษฐ์ มีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยนางรมมากถึง 1,700 ราย

ลงเรือมาจาก ต.ท่าทองใหม่ แล้วจะเห็น “ขนำ” ที่คล้ายกับ “กระเตง” ของทางภาคกลาง อันเป็นที่พักหลบแดดหลบฝนของชาวประมง ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป เพราะขึ้นชื่อว่า “ขนำ” เป็นเพียงกระท่อมที่พักชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าอย่าอยู่นาน ดังนั้นใครอยากสร้างขนำเพื่อความสะดวกสบายแบบไหนก็ตามใจผู้อยู่กันเลย ดังนั้นเราจึงมองเห็นขนำหลากแบบหลายขนาด แต่ที่เป็นเป้าหมายใหม่คือ “รุ่งแสงตะวันฟาร์มสเตย์” ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน

ขนำขนาดที่รับคนได้แบบสบายๆ หลายสิบคน มีความโปร่งโล่งสบาย ลมพัดโบกทุกด้าน ไม่ว่าอยู่มุมไหน ก็เลือกนอนชิลล์บนเปลได้ ปัจจุบันมีมุมครัว  มีห้องน้ำ 1 ห้อง มีห้องพักแบบเรียบง่ายนอนได้หลายคน แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดให้แขกค้างคืน แต่จะเปิดให้เข้ามาพักผ่อนในช่วงกลางวัน เริ่มจากช่วงเที่ยงๆ บ่ายๆ แล้วไปปิดฉากที่พระอาทิตย์ตกดิน ก่อนจะกลับเข้าฝั่ง

กำนันพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว

วันนี้เราเดินทางมาที่ “รุ่งแสงตะวันฟาร์มสเตย์” กับผู้ร่วมเดินทางอีกหลายท่าน โดยมี กำนันพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว” นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการท่องเที่ยวชมฟาร์มหอยนางรม ในพื้นที่บ้านกระแจะแดะ ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ โดยมุ่งหวังว่า จะช่วยเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านผู้เลี้ยงหอย และเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทางบกของหมู่บ้าน นอกจากนั้นก็อยากให้คนที่ชื่นชอบการรับประทานหอย ได้อิ่มเอมกับหอยที่สด ใหญ่ ในราคาหน้าฟาร์ม เพื่อประกาศถึงศักยภาพของ “เมืองหอยใหญ่” ที่ทุกคนรู้จัก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสเข้ามาสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดแบบนี้ พร้อมด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วยวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ และย้ำว่าเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอันเป็นผู้มีพระคุณของชาวประมงทั้งหลาย

หอยนางรมเกาะแท่งคอนกรีต “พี่เปี๊ยก” ดำลงไปเพื่อกระเทาะให้กินกันสดๆ

หากมาเป็นหมู่คณะ กำนันก็จะชักชวนให้กลุ่มแม่บ้านที่มีการแปรรูปหอยมาโชว์และให้ชิมกันถึงขนำ อย่างวันนี้ มีร้าน “ครัวหอยใหญ่ by คุณแต๋ว” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำฟาร์มหอยนางรมมากว่า 30 ปี นำเมนู น้ำพริกหอยนางรม ขนมจีบหอยนางรม และทอดมันหอยนางรม มาให้ชิม

ทอดมันหอยนางรม เป็นการแปรรูปหอยที่รูปร่างไม่สวยงามหรือเปลือกไม่สมบูรณ์มาเป็นอาหาร รสชาติเข้มข้น หอมมะพร้าว

เข้ามาที่ขนำแล้ว จะได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงหอย ทั้งหอยนางรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ธรรมชาติมอบให้ เพราะลงทุนแค่ปักแนวแท่งคอนกรีตลงไปใต้น้ำ ตัวหอยจะเข้ามาจับจองพื้นที่ โดยที่มีธรรมชาติเป็นผู้เลี้ยงดู แต่ก็รอกันนานหน่อย 3-5 ปี กว่าหอยจะโตใหญ่เต็มที่ในขนาดที่น่ากิน

นอกจากนั้นก็มีการเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีให้กินแบบไม่อั้น ในราคาประมาณ 700 บาทต่อหัว (ขึ้นอยู่ตามตกลง กรุณาสอบถามอีกครั้ง) นอกจากเมนูหอยแล้ว ก็ยังมีจำพวกกุ้งปูและอาหารท้องถิ่นที่เรียงรายมาให้อิ่มกันแบบบิ๊กๆ

บรรยากาศยามเย็นก็จะเป็นแบบนี้

(ติดต่อท่องเที่ยวฟาร์ม “รุ่งแสงตะวัน” คุณเม่น 0898674363)

2.VIP แบบมีสไตล์ ไม่ได้หากันง่ายๆ

นอกจากจะเป็นชายหาดส่วนตัวที่มีทางเข้าออกเพียงทางเดียวแล้ว ที่นี่ยังมีความเป็นส่วนตัวแบบที่หาได้ยาก นี่คือ ชายหาดบ้านพอด ม.1 ต.ชลคราม อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี สถานที่เปิดโล่ง สำหรับการเปิดใจของคนรักธรรมชาติ

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถร่วมปลูกต้นโกงกาง หรือ เดินเก็บหอยเสียบชายทะเลได้

ที่นี่ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ท มีเพียงเพิงพักเล็กๆ ให้ทุกคนได้นั่งชมวิว ที่นี่ไม่มีร้านอาหารใหญ่ แต่มี “ครัวชมเล” ที่เรียกได้ว่าเป็นครัวพิเศษที่พร้อมสำหรับแขกที่นัดเข้ามาล่วงหน้าเท่านั้น

วัตถุดิบชั้นดีจากอาหารทะเลสดๆ ในพื้นที่ รวมทั้งหอยที่หาได้ตามริมชายหาด จะได้รับการปรุงด้วยพ่อครัวหัวทะเลอย่าง “จ่าเสือ” เจ้าของบ้าน

พี่จ่าเสือ เล่าว่า บริเวณนี้คือที่ดั้งเดิมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่ถูกคลื่นทะเลซัดฝั่งทำให้ที่ดินหายไปถึง 5 ไร่ แต่ยังมีบ่อกุ้งที่เป็นอาชีพเหลืออยู่ พร้อมทัศนียภาพที่สวยงาม เงียบสงบ เพราะเป็นชายหาดส่วนตัว ที่รถเข้าออกได้เพียงทางเดียว เมื่อมองออกไปเห็นซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง ก็ทำให้พอจะนึกภาพในอดีตออก

ยำปลากระเบนตัวเล็กที่หากินได้ยาก

จุดเริ่มต้นของ “ครัวชมเล” คือการแบ่งปันสถานที่พักผ่อนแบบส่วนตัวให้เพื่อนๆ ที่รักธรรมชาติและความสงบมาจัดกิจกรรม ที่เห็นเป็นเพิงพักเล็กๆ ก็เพียงเพื่อให้ผู้มาเยือนได้หลบแดดหลบฝน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างร้านรวงให้หรูหราฟู่ฟ่าแบบที่คนต้องเข้ามากันมากๆ เรียกว่า ถ้าจะมาเที่ยวก็ต้องติดต่อจองล่วงหน้ากันเข้ามา

ดูธรรมดาๆ ไม่มีอะไรหวือหวา แต่ก็กลายเป็นพื้นที่วีไอพีของคนที่เคยเข้ามาสัมผัส แม้จะดูบ้านๆ แต่ก็คือประสบการณ์อันแสนสนุก คณะเพื่อนฝูงหรือกลุ่มก๊วน อย่างชาวบิ๊กไบค์เมืองหอยใหญ่ ก็เคยมาจัดปาร์ตี้ส่วนตัวกันที่นี่

ใครอยากได้โต๊ะวีไอดี พี่เสือก็จัดให้ได้ เพราะมีโต๊ะไม้ที่อยู่ใกล้ชายหาด หากยามน้ำขึ้นก็กลายเป็นโต๊ะกลางทะเล ยามเย็นน้ำลดก็ออกไปนั่งชิลล์ได้ ตกค่ำมาคือช่วงเวลาอันสุดพิเศษ กินลม ชมดาว กินข้าว ชมจันทร์ เรียกได้ว่า หาที่ไหนก็ไม่เหมือน บรรยากาศเหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน แต่ชิลล์กว่าโรงแรมวิวหลักล้านเลยก็ว่าได้

ใครที่กลัวว่าจะไม่สะดวกสบาย ที่นี่มีห้องน้ำให้บริการพร้อม อยากนอนค้างคืนก็สามารถนำเต้นท์มากางได้ ส่วนของชายฝั่งยังเป็นบ่อเลี้ยงปลาของพี่เสือ อยากมาตกปลาในช่วงกลางวันก็ติดต่อทางพี่เสือได้เลย

(ครัวชมเล หาดบ้านพอด โทร. 090-705-1049)

3. “หอยตอก”รู้จักแล้วต้องบอกต่อ

มาถึงเมืองทะเลแล้ว ก็ต้องมีเรื่องราวแห่งท้องทะเลมาเล่าให้ฟัง นอกจากทำประมงหรือการเลี้ยงหอยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นอันซีนเลยก็ว่าได้ คือ วิถีของชาวบ้านในแถบ ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์

ชาวบ้าน หมู่ 3 บ้านท่าทองใหม่ มีอาชีพที่เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือการหาหอยตอก โดยชาวประมงจะออกเรือไปลากอวนและนำกลับมา แล้วนำไปล้าง ต้ม เอาโคลนออก ซึ่งเนื้อจะลอยขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ล้างให้สะอาดแล้วแพ็ครอส่งขาย

แล้วใครล่ะจะกินเจ้าหอยตัวกระจ๊อยนี้ จริงๆ แล้วคนก็กินได้ แต่ที่กินดีคือกุ้ง เพราะนี่คืออาหารกุ้งชั้นเลิศ เป็นอาหารจากธรรมชาติที่ปลอดภัยและส่งเสริมการเจริญเติบโตของกุ้ง ขายกันราคาที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม แอบถามชาวบ้านที่ทำหอยตอกบอกว่า ขยันหน่อย 3-4 วัน ก็ได้แล้ว 10,000 บาท เพราะหอยตอกไม่ได้หากันง่ายๆ และมีมากในแถบนี้ ลากอวนมาแต่ละทีก็ขายหมดเป็นเทน้ำเทท่า

กำนันชัยยุทธ โกละกะ บอกกับเราว่า หอยตอกเป็นอาชีพที่นิยมกันกันมากใน หมู่ 3 ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีปากคลองออกทะเล ชาวประมงจะทำการออกเรือไปราว 5 ชั่วโมง เพื่อลากอวนหอยตอกมา โดยชาวบ้าน 80% ในหมู่ 3 มีอาชีพทำหอยตอก ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ หากนักท่องเที่ยวผ่านมาผ่านไปก็แวะชมกันได้

4.สนุกจริงๆ ที่โรงเรียนฝึกจ๋อ

มะพร้าวกับชาวเลเป็นของคู่กัน และแม้ว่าลิงจะคู่กับกล้วย แต่ลิงก็ชอบขึ้นต้นมะพร้าวมากเช่นกัน เพราะที่นี่คือ “ศูนย์ฝึกลิงบ้านกระแจะแดะ” อ.กาญจนดิษฐ์

ที่นี่มีครูฝึกลิงที่มีชื่อเสียงอย่างลุงศักดิ์ “ลือศักดิ์ พัฒนวัฒน์” ซึ่งมีภูมิปัญญาการฝึกลิงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มาถึงศูนย์แห่งนี้ ก็จะได้เรียนรู้การฝึกลิงว่าเขาเริ่มต้นกันยังไง ท่าพื้นฐานง่ายๆ ที่ใช้กับลิงน้องใหม่ และ ลิงรุ่นใหญ่กับความแสนรู้

“ไข่หวาน” วัย 3 ปี เป็นลิงน้องใหม่ ที่เพิ่งผ่านการฝึกในขั้นเบสิค ทั้งการปอกมะพร้าว การขึ้นมะพร้าว รวมทั้งการไหว้ทักทาย ไข่หวานเป็นลิงใจดี ไม่มีท่าทีดุ แต่ลุงศักดิ์บอกว่า อาจจะมีอารมณ์เสียได้บ้างเหมือนกัน ดังนั้นใครไปเยือนก็อย่าเล่นกับเขาจนเกินงาม การฝึกของลุงถือเป็นภูมิปัญญาที่อาศัยผู้มีใจรัก ต้องใช้เวลาอดทนในการฝึก แล้วแต่การเรียนรู้ของลิง บ้างก็หลายเดือน บ้างก็เป็นปี โดยลิงจากหลายแห่งถูกส่งมาเรียนที่นี่

ลิงที่ได้รับการฝึกฝนจะมีความสามารถในการเก็บมะพร้าวและแสดงโชว์ต่างๆ อย่างเช่น การเก็บของตามคำสั่ง หรือ การปั่นจักรยาน  ว่างจากงานโชว์คุณศักดิ์ก็จะพาลิงออกไปรับจ้างเก็บมะพร้าว ซึ่งลิงระดับเซียนเคยเก็บมะพร้าวได้ถึง 900 ลูกต่อวัน โดยค่าจ้างอยู่ที่ 1-3 บาทต่อลูก

เมื่อทำการแสดงจบหรือโชว์เสร็จสิ้น จึงจะได้ดื่มนมเป็นรางวัล

(ศูนย์ฝึกลิงกะแดะแจะ โทร.0898718017)

5.มุมอร่อยคุ้มที่ “คุ้มท่าทอง”

มาถึง อ.กาญจนดิษฐ์ แล้ว นอกจากวิถีชุมชนสดใหม่ได้ใจไปเต็มๆ แล้ว ยังมีร้านอาหารเปิดใหม่ที่น่าสนใจมาแนะนำกัน นั่นคือ “คุ้มท่าทอง” ติดอยู่ริมแม่น้ำคลองท่าทอง  ร้านอาหารขนาดใหญ่ รองรับลูกค้าได้เป็นร้อย แถมยังมีมุมให้เลือกนั่งชิลล์เยอะมาก

ไม่ว่าจะเป็นมุมร้านกาแฟ มุมริมชายคลอง มุมชั้นบน มุมชมสะพานท่าทอง มุมริมสวนน้ำของเด็กๆ เป็นอีกสถานที่พักผ่อนของครอบครัวที่ครบรส แถมอาหารยังสดอร่อยสมความเป็นเมืองทะเล และบริเวณนี้ก็มีการเลี้ยงปลาในกระชังกันมากในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย

แต่ที่น่าจะเรียกว่าไฮไลท์ถูกใจลูกค้า โดยเฉพาะเด็กๆ (อย่างเราด้วย) เพราะแม้ว่ารถจะสามารถเข้าถึงร้าน ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดท่าไทร แต่หากเราจอดรถที่ฝั่งวัดท่าทอง ทางร้านจะนำแพขนาดกะทัดรัดมารับ ให้กินลมชมบรรยากาศเป็นออร์เดิร์ฟกันก่อน อิ่มแล้วจะใช้บริการนั่งแพชมวิถีชาวบ้านริมคลองท่าทองก็มีค่าบริการท่านละ 50 บาท

ไก่ต้มขมิ้น
แกงส้มปลากระพง
ปลากระพงทอดน้ำปลา
“ไอ้คลั่งตุ้มท่าทอง” หรือ เมนูทะเลกระทะร้อน

เรื่องอาหารเป็นรสชาติแบบใต้แท้ แต่ก็ไม่ได้จัดหนักจนลิ้นชา อย่างแกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว ถือเป็นเมนูเด็ดโดนใจ ทำได้กลมกล่อม เข้ม เผ็ด อมเปรี้ยวกำลังดี คิดแล้วยังน้ำลายสอ ใครที่กินเผ็ดไม่ได้เลย ก็เลือกเมนูอื่นๆ ที่มีอยู่อีกมาก อิ่มแล้วอย่าลืมตบท้ายด้วยของหวานอย่างโรตี ซึ่งจัดว่าเป็นอีกทีเด็ดของร้านเลยก็ว่าได้ ด้วยความนุ่มเหนียวกำลังดี แป้งหอม และความหวานที่พอเหมาะ อิ่มแปล้ สบายใจ

วิถีชาวบ้านริมคลอง

ด้วยทำเลที่สวย ติดคลอง ใกล้สะพานท่าทอง หากมาตอนเย็นๆ วิวก็จะสวยฉ่ำใจ กลางคืนก็น่าจะชิลล์ไม่เบาเลย แนะนำว่า มีโอกาสก็อยากให้ลองไปชิมกัน

ร้านอาหารคุ้มท่าทอง เปิดทุกวัน 11.00-24.00 น.โทร.081-5352709

สวนน้ำ : ค่าเล่นน้ำเด็ก 80 บาทผู้ใหญ่ 100 บาท

Facebook : สวนอาหารคุ้มท่าทอง