12 ธุรกิจบันเทิงไทย จัดทัพขนคอนเทนต์เต็มสูบ รุกตลาดงาน Cannes Film Festival 2019
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) นำคณะผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย ทั้งภาพยนตร์และแอนิเมชั่น จำนวน 12 บริษัท เตรียมเข้าร่วมงานเจรจาการค้า ภายในงานแสดงสินค้า Cannes Film Festival 2019 ภายใต้แนวคิด Creative Thai อันสื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกและเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชั่น ให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 14 – 23 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส คาดว่าจะเกิดการเจรจาธุรกิจจำนวนกว่า 400 นัดหมาย
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า Cannes Film Festival ถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก โดยปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 72 ซึ่งในแต่ละครั้ง
จะมีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคนจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสทางธุรกิจ จึงได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 นี้จัดเป็นครั้งที่ 14 และจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 23 พฤษภาคม 2562 โดยขนคอนเทนต์เข้าร่วมตลาดซื้อขายในครั้งนี้กว่า 120 ชิ้นงาน
นับได้ว่าเป็นปีที่มีธุรกิจบันเทิงไทยเข้าร่วมงานมากที่สุด โดยผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทยประกอบไปด้วย ธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจแอนิเมชั่น จำนวน 12 บริษัท ใน 2 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มแรกเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ได้แก่ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง Friend Zone ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดเอเชีย ไปเจาะตลาดยุโรปเพิ่มเติม บริษัท พี.แอล.เอช. โฮลดิ้ง จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง Friendsssss The Next Chapter บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่น จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง The Spirit of RAMAYANA บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด นำผลงานภาพยนตร์เรื่อง พี่นาค ไปจำหน่าย หลังประสบความสำเร็จทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทในประเทศไทย บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง The Pool บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับผลงาน Sisters กระสือสยาม ที่จับมือกับกลุ่มศิลปินชื่อดังแห่งยุค BNK48 บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด กับภาพยนตร์ไทยสายฮาฟอร์มดีทะลุร้อยล้านบาท ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กับภาพยนตร์เรื่อง แสงกระสือ ซึ่งขายไปแล้วกว่า 11 ประเทศในเอเชีย พร้อมเตรียมบุกตลาดยุโรปเป็นครั้งแรกเช่นกัน และบริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด นำซีรีส์ใหม่ Hotel Stars ไปเปิดตัว ครั้งแรกในตลาดเทศกาลภาพยนตร์นี้
นอกจากด้านคอนเทนต์แล้ว ผู้ให้บริการด้านภาพยนตร์เป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้ประกาศสิทธิประโยชน์ที่ให้กับบริษัทภาพยนตร์และสื่อโทรทัศน์
ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยจะได้รับสิทธิ์ในการรับคืนภาษีสูงถึง 15 – 20 % (Incentive Measures) ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยต่างมีความพร้อมในงานโปรดักชั่นเซอร์วิสและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอนการถ่ายทำด้วยมาตรฐานระดับโลก โดยตัวแทนผู้ประกอบการไทยในกลุ่มโปรดักชั่นเซอร์วิสที่พร้อมจะเดินทางไปเจาะตลาดยุโรปในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย บริษัท เดอ วอร์เรนท์ พิคเจอร์ จำกัด ตัวอย่างผลงาน ได้แก่ Mechanic Resurrection จากสหรัฐอเมริกา Ninja : Shadow of a Tear จากสหรัฐอเมริกา และ บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ตัวอย่างผลงาน Thugs of Hindostan จากอินเดีย และ บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสตูดิโอมาตรฐานระดับฮอลลีวูดอันดับหนึ่งในเอเชีย
ในส่วนของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ กรมฯ ยังได้สร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและสร้างเครือข่าย อันได้แก่ การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน และการจับคู่เจรจาการค้าทางธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ในงาน Bangkok International Digital Content Festival กิจกรรมส่งเสริมการตลาด Thai Licensing Character สู่ตลาดต่างประเทศ โครงการคณะผู้แทนการค้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและบริการเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพและความพร้อมผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการยอมรับบนเวทีนานาชาติ กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ไทย สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คาดหวังว่าการเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2019 ในครั้งนี้จะช่วยผลักดันและตอกย้ำศักยภาพของธุรกิจบันเทิงไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น