โรคเกาต์และโรครูมาตอยด์เป็นโรคข้อที่พบมากในคนไทย ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก การแยกความเจ็บป่วยของทั้งสองโรคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นการรู้ถึงความต่างของอาการระหว่างโรคเกาต์และโรครูมาตอยด์จะช่วยให้รับมือได้ทันและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี
นพ.สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ แพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง โรครูมาตอยด์ว่า เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีการอักเสบของเยื่อบุข้อ ซึ่งเยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและไปทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่นๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น และสามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สาเหตุการเกิดโรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การมีฟันผุ การสูบบุหรี่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงตื่นนอนตอนเช้าและอาจมีอาการอยู่ 1 – 2 ชั่วโมงหรือทั้งวันก็ได้ ตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุดมักจะเป็นที่มือและเท้า แต่มีโอกาสปวดข้อตำแหน่งอื่นได้
นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์อาจมีอาการต่อไปนี้ได้ เช่น อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ตาแห้ง คอแห้งผิดปกติ พบก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ ในรายที่ได้รับการรักษาล่าช้าอาจเกิดการทำลายข้อถาวร เป็นผลทำให้ข้อพิการผิดรูปได้ โรครูมาตอยด์ในระยะเริ่มต้นอาจมีความลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย ขณะเดียวกันการรักษา ได้แก่ 1) การใช้ยา 2) การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย 3) การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น และ 4) การผ่าตัดใช้รักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว
ขณะเดียวกันโรคเกาต์ ถือเป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบเช่นกัน พบได้ประมาณร้อยละ 5 ในบรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหมด ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยโรคเกาต์ประมาณ 2.4 ล้านคน ทั่วโลกเฉลี่ยพบผู้ป่วยโรคเก๊าท์ 300 รายต่อประชากร 100,000 คน ลักษณะของโรคเกาต์คือ การอักเสบของข้อที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการอยู่ประมาณ 5-10 วัน แล้วหายไป ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรัง เกิดการอักเสบของข้อแบบเป็นๆ หายๆ และจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของโรคเกาต์เกิดจากระดับของกรดยูริกในเลือดสูง เป็นผลมาจากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วกรดยูริคจะตกผลึกเมื่อระดับของกรดยูริกในเลือดมากเกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การที่ร่างกายมีกรดยูริกสะสมมากกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน ทำให้ไปตกตะกอนอยู่บริเวณรอบๆ ข้อ หรือภายในข้อ หรือ ความผิดปกติของกรดยูริคที่มีการขับสารพิวรีนออกจากร่างกายได้ช้า วินิจฉัยโรคโดยการที่แพทย์จะซักถามประวัติอาการโดยละเอียด ตรวจระดับของกรดยูริกในเลือด คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีระดับกรดยูริกในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ตรวจสารน้ำในข้อเพื่อหาผลึกของกรดยูริก
การรักษาโรคเก๊าท์ในปัจจุบันอาศัยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1) รักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลันให้หายเร็วที่สุด โดย เน้นที่เริ่มให้ยาทันที 2) ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของข้อจากผลึกของกรดยูริก 3) รักษาภาวะกรดยูริกสูงในเลือด และป้องกันข้อและกระดูกถูกทำลาย ควรหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดกรดยูริกสูงในกระแสเลือด เช่น ลดความอ้วน ลดการรับประทานอาหารที่ยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำให้มากๆ ที่สำคัญคือการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ
โรคเกาต์และโรครูมาตอยด์เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะพบข้อแตกต่างดังนี้ คือ โรคเกาต์ เกิดจากร่างกายสะสมกรดยูริก (Uric Acid) มากเกินไป และไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้ จึงตกผลึกตามข้อและอวัยวะต่างๆ มีอาการปวดส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า จะมีอาการปวดที่ข้อๆ เดียวไม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายข้อ มีอาการปวดข้างใดข้างหนึ่ง มีปุ่มกระดูกปรากฏขึ้นที่ข้อ สามารถปวดได้ทุกช่วงเวลา ถ้าข้ออักเสบรุนแรงแล้วไปประคบร้อนจะเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการปวดจะเป็นแบบเป็นๆ หายๆ
ขณะที่ โรครูมาตอยด์ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน ที่ไปทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อ ทำให้เกิดอาการปวดได้ทุกจุดของร่างกายไม่ว่าจะเป็น ข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอก และสามารถปวดได้หลายๆ ข้อพร้อมกัน มีการผิดรูปของข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อนิ้วเท้า คนไข้จะมีอาการปวดข้อมากที่สุดในช่วงเวลาตื่นนอน ช่วงอากาศเย็นๆ และการประคบเย็นจะยิ่งทำให้ข้อที่เป็นมีอาการปวดมากขึ้น และจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบทำการรักษา
ทั้งนี้ หากมีอาการปวดข้อแล้วไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกาต์หรือรูมาตอยด์ ควรสังเกตตนเองและรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและทำการรักษาโดยเร็ว เพื่อคนไข้จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดังเดิม