ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งไม่เพียงจะกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิด “ไฟป่า” ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นับว่าสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่าและชีวิตสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก
เมื่อเกิด “ไฟป่า” ขึ้น บุคคลกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดับไฟ นั่นคือ “ผู้พิทักษ์ป่า” นับเป็นงานที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง เพื่อปกป้องผืนป่าของประเทศ
“ถาวร ชูกรณ์” พนักงานพิทักษ์ป่า สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า คือหนึ่งในผู้ที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าและควบคุมไฟป่า และอยู่ในหน้าที่นี้เป็นเวลานานถึง 12 ปี กล่าวถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ว่า หากเกิดไฟป่าขึ้น หน้าที่หลักที่ต้องทำ คือการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามต่อเนื่อง ต้องควบคุมไฟและดับไฟให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในวงกว้าง
“ภารกิจที่ภูมิใจมากที่สุดคือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2555 ซึ่งไฟป่าได้ลุกโหมและไหม้กินพื้นที่กว่าพันไร่ นับเป็นเหตุไฟป่าที่รุนแรงมาก ต้องแบกเครื่องสูบน้ำเข้าไปในป่าระยะทาง 3-4 กิโลเมตร และต้องอัดฉีดน้ำลงไปในดินให้น้ำซึมลงไปลึกพอที่จะดับไฟได้ เป็นการใช้ความพยายามอย่างมาก ซึ่งการดับไฟป่าในครั้งนั้นเอง ทำให้ต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในป่านานกว่า 2 เดือน” ถาวร กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด
ก่อนถึงฤดูไฟป่า ผู้พิทักษ์ป่าจะมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ทั้งในด้านการจัดเตรียมกำลังคนและเครื่องมือดับไฟป่าทุกชนิด การฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการใช้อุปกรณ์ดับไฟป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น การลงพื้นที่ลาดตระเวนและการสังเกตการณ์จากหอดูไฟป่า รวมไปถึงการตรวจหาไฟป่าทางอากาศ ซึ่งผู้พิทักษ์ป่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟ ได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไฟป่าว่ามีการลุกลามมากน้อยเพียงใด โดยการทำแนวกันไฟ รวมถึงการนำเครื่องบินบรรทุกน้ำพ่นกระจายดับไฟทั่วพื้นที่
ขณะเดียวกัน มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า โดยสามารถเตรียมตัวรับมือเบื้องต้นด้วยการทำแนวกันไฟรอบที่อยู่อาศัย และกำจัดวัชพืชที่เป็นเชื้อเพลิงได้ง่าย จัดเตรียมอุปกรณ์การดับไฟให้พร้อมและสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งหลังจากการเกิดเหตุไฟป่าแล้ว ผู้พิทักษ์ป่าจะประเมินความเสียหายของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นจะเริ่มเข้าฟื้นฟูพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทน รวมไปถึงการเปิดให้ภาคเอกชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเข้าฟื้นฟูพื้นที่ตามความเหมาะสม
นับเป็นการปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยความยากลำบากและเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพื่อปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและชื่นชมต่อไป
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งมูลนิธิเอสซีจี นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าอย่างจริงจังเละต่อเนื่อง ในโครงการ “HANDS FOR HEROES รวมมือเรา เพื่อคนเฝ้าป่า” ปีที่ 2 เพื่อขยายความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนให้มารวมพลังกัน และกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้พิทักษ์ป่าให้ได้มากที่สุดผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นตลอดปี 2562 นี้ ซึ่งรายได้จากการจัดกิจกรรมทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ลาดตระเวนที่จำเป็นมอบแก่ผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ให้พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างไม่ต้อง ‘ห่วงหน้า พะวงหลัง’
สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นอีกหนึ่งมือเพื่อส่งกำลังใจไปยังผู้พิทักษ์ป่าสามารถร่วมกิจกรรม “Run for Heroes” วิ่งเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ได้ โดยจะจัดขึ้น ในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2562 เวลา 05.30-10.00 น. ณ สวนพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม การวิ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. Scout 5 KM. ราคา 600บาท 2. Mini Ranger 10 KM. ราคา 700 บาท 3. Ranger 21 KM. ราคา 800 บาท และหากท่านใดที่ต้องการสมทบทุนเพิ่มเติมยังมี VIP (BIB เลขสวย) ราคา 2,000 บาท ทั้งนี้การวิ่งทุกระยะจะได้รับเสื้อเเละเหรียญที่ระลึก นักวิ่งและผู้ที่สนใจสมัครได้ที่ https://www.runlah.com/events/c/rfh19 หรือ โทร. 081-818-6155, 065-992-7397
นอกจากการร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังสามารถบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี “แฮนดส์ ฟอร์ ฮีโร่ส์ โดยมูลนิธิเอสซีจี” เลขที่บัญชี 468-0-71691-0 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ “HANDS FOR HEROES” ผ่านทาง Facebook : handsforheroes