สสส. – ศูนย์คุณธรรม – มูลนิธิหัวใจอาสา ชูโมเดล Happy Workplace ส่งเสริมองค์กรสุขภาวะสู่องค์กรธุรกิจคุณธรรม หลังพบวัยแรงงานมีความสุขในการทำงานสูง แต่เกิดปัญหาทางจิต เครียดสูงจากหนี้สิน ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหัวใจอาสา จัดงาน “MORAL BUSINSS FORUM นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมองค์กรภาคเอกชน” โดยภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ ธุรกิจคุณธรรม นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน หัวข้อ จรรยาบรรณธุรกิจสู่การเป็นองค์กรธุรกิจคุณธรรม และหัวข้อ การส่งเสริมองค์กรสุขภาวะสู่องค์กรธุรกิจคุณธรรม พร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดนวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมภาคเอกชน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์คุณธรรมเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการส่งเสริมคุณธรรมในสังคม สนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมในองค์กรภาคเอกชน โดยร่วมมือกับ สสส. ใช้แนวคิด Happy Workplace เน้นส่งเสริม Happy Heart (นํ้าใจงาม) และ Happy Soul (มีคุณธรรม) เป็นการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) และสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) ให้แก่คนทำงานในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะให้สามารถขยายผลในวงกว้าง ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวชัชณารัช จันทนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร กล่าวว่า จากผลสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า จำนวนประชากรวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.5 ล้านคน มีงานทำ 37.3 ล้านคน ผลการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะวัยแรงงาน พบว่า ด้านจิตตปัญญา ให้ความสำคัญยึดถือ และปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาน้อย ด้านจิตใจ มีความเครียดสูง จากอาการเจ็บป่วยของตนเองหนี้สิน และจากการทำงาน ด้านสังคม มีแนวโน้มพฤติกรรมความเป็นปัจเจกสูง เคารพและปฏิบัติตามกติกาสังคมน้อย โดยเฉพาะ Gen Y สสส. จึงให้ความสำคัญกับคนวัยทำงานในองค์กรในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพพัฒนาเครื่องมือที่ต่อยอดองค์ความรู้ อาทิ ความสุข 8 ประการ (Happy 8) คู่มือวัดความสุข (Happinometer)
“ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2561 โดยใช้เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและความสุขคนทำงาน “HAPPINOMETER” บนกรอบแนวคิดการสร้างองค์กรแห่งความสุข Happy 8 และเพิ่มองค์ประกอบ คือ การงานดี (Happy Work life) พบว่า คะแนนความสุขคนทํางานในองค์กรระดับประเทศ มีค่าคะแนนเฉลี่ย 58.62 คะแนน จัดอยู่ในระดับ “HAPPY” หรือ “ระดับความสุขตามเป้าหมาย” และเมื่อพิจารณามิติความสุขทั้ง 9 มิติ พบว่า “มิติครอบครัวดี” มีค่าคะแนนสูงที่สุดเท่ากับ 64.50 คะแนน “สุขภาพกายดี” 59.53 คะแนน และ “มิติใฝ่รู้ดี” มีค่าคะแนนต่ำที่สุดเท่ากับ 49.46 คะแนน จัดอยู่ในระดับ “Unhappy” หรือ “ระดับความสุขต่ำกว่าเป้าหมาย” เป็นสัญญาณให้ต้องพัฒนาสนับสนุนอย่างจริงจัง” นางสาวชัชณารัช กล่าว