แพทย์แผนไทย ร่วมรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ แนะนำชาหญ้าดอกขาว หรือเคี้ยวมะนาว ช่วยลดความอยากบุหรี่ มีงานวิจัยรองรับ เหมาะสำหรับผู้ตั้งใจเลิกบุหรี่ พร้อมย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจที่แน่วแน่เป็นสิ่งสำคัญ
นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก การสูบบุหรี่รวมถึงควันบุหรี่มือสอง (ไม่ได้สูบเอง แต่ได้รับควันจากผู้อื่น) เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ และปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ของการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดลมอักเสบ
จึงอยากแนะนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ คือ หญ้าดอกขาว หรือ หญ้าหมอน้อย หรือ หญ้าละออง หรือ ถั่วแฮะดิน (เรียกชื่อแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น) หญ้าดอกขาว มีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง อีกทั้งมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เทอร์พีน สเตอรอล และสารกลุ่มไกลโคไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ลิ้นฝาดหรือชา ลดความอยากสูบบุหรี่ จากผลการศึกษาในผู้ที่ติดบุหรี่หลังจาก ดื่มชาหญ้าดอกขาวเป็นเวลา 4 เดือน พบว่ามีอัตราการเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 70
โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ หลังจากดื่มชาหญ้าดอกขาวจะทำให้รู้สึกชาที่ลิ้น เหม็นกลิ่นบุหรี่ ไม่มีความอยากสูบบุหรี่ และเมื่อสูบบุหรี่จะรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนทันที ซึ่งปัจจุบันหญ้าดอกขาวได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สะดวกต่อการใช้ และเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในรูปแบบชาชงมีในคลินิกเลิกบุหรี่ของแต่ละโรงพยาบาล วิธีใช้ ชาหญ้าดอกขาว เพื่อลดความอยากบุหรี่ทำ คือ ใช้ปริมาณ 2 กรัม ต่อน้ำร้อน 120 – 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5-10 นาที ดื่มหลังอาหารทันที วันละ 3-4 ครั้ง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ อาการปากแห้ง คอแห้ง และมีข้อควรระวัง คือ การใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และโรคไต ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากชาหญ้าดอกขาว มีสารโพแตสเซียมปริมาณที่สูง อาจส่งผลให้อาการของโรคกำเริบได้
นพ.สรรพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรใกล้ตัวที่ทุกคนรู้จักกันดีที่มีสรรพคุณ ช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ คือ มะนาว เนื่องจากสารสำคัญในเปลือกมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับ รสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีใช้ง่าย ๆ เพียงหั่นมะนาวทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ รับประทาน ทุกครั้งเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ จะช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้
“ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการเลิกบุหรี่ เช่น การออกกำลังกายให้เกิดความผ่อนคลาย รวมทั้งขอคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จจริง ผู้ที่สนใจอยากจะเลิกบุหรี่ สามารถขอคำแนะนำหรือรับบริการได้ที่โรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ซึ่งสามารถติดต่อใช้บริการได้ ตามสถานพยาบาล ที่ใกล้บ้านของท่าน และโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สังกัดกรมการแพทย์”