งานศิลป์จากโลกมืด ยกระดับผู้พิการทางสายตา กับกิจกรรม “ศิลปะสัมผัสได้”

128

งานศิลป์จากโลกมืด ยกระดับผู้พิการทางสายตา
กับกิจกรรม “ศิลปะสัมผัสได้” ปูทางสร้างโอกาสเป็นศิลปินมืออาชีพ

โลกของผู้พิการทางสายตา ศิลปะจะเข้าไปอยู่ในจิตใจของเขาได้อย่างไร ถือเป็นคำถามที่สังคมต้องพยายามถอดบทเรียนจากความมืด ให้เขาได้สัมผัสศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารยูโอบี (ไทย) จึงได้ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ผลักดันให้เกิดโครงการ UOB Please Touch หรือ “โครงการกรุณาสัมผัส” ขึ้นในปี 2559 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้ในปี 2560 นี้ ได้ยกระดับสู่การจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะให้กับผู้พิการทางสายตาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป ที่มีความสนใจด้านศิลปะ เพื่อสร้างโอกาสสู่การเป็นศิลปินอาชีพ โดยจัดเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อป “ศิลปะสัมผัสได้”

สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและสนับสนุนธุรกิจ ธนาคารยูโอบี(ไทย) บอกว่า ทางธนาคารยูโอบีได้มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนโครงการทางด้านศิลปะ การศึกษา และเยาวชน ในทุกประเทศที่องค์กรตั้งอยู่ ซึ่งในประเทศไทยได้พาร์ทเนอร์ที่ดีอย่าง กล่องดินสอ ทำให้เกิดโครงการด้านการสอนศิลปะให้แก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตาร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านความร่วมมือของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

สัญชัย กล่าวว่า กิจกรรมเวิร์คช็อป “ศิลปะสัมผัสได้” ถือเป็นการเติมเต็มจินตนาการผ่านงานฝีมือให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะได้เรียนรู้เทคนิค และวิธีการในการสร้างสรรค์งานศิลปะ จนสามารถทำเป็นงานฝีมือได้ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา ร่วมด้วยอาสาสมัครพนักงานธนาคารยูโอบีร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง ซึ่งพนักงานจิตอาสาของธนาคารก็เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่น ช่วยน้องๆ จับกรรไกร ไกด์ให้น้องๆ มัดเชือก มัดเส้นด้าย หรือช่วยจับอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้พิการทางสายตาในการสร้างงานศิลปะอีกด้วย”

เจิดศิลป์ สุขุมินท “ครูอาร์ต” ครูสอนศิลปะ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อีกหนึ่งบุคลสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของเด็กๆผู้พิการทางสายตา กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับน้องๆ ว่าผู้พิการทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะแสดงออกเหมือนกับคนทั่วไป แต่ด้วยวิธีการแสดงออกที่จำกัด มีเพียงทักษะสัมผัส ฟัง และรับรู้เรื่องกลิ่น ซึ่งเด็กๆส่วนใหญ่จะแสดงออกไปทางดนตรี แต่ก็มีเด็กบางคนที่ต้องการจะแสดงออกทางด้านทัศนศิลป์เช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนครูหรือแม้แต่โรงเรียนก็ตาม ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เด็กบางคนใช้เวลาหลังเลิกเรียนเข้ามาทดลอง เข้ามาปั้น หรือบางคนก็ขอวัสดุต่างๆไปทดลองด้วยตัวเอง

“ซึ่งการมี โครงการ “ศิลปะสัมผัสได้” ขึ้นมา ถือเป็นการต่อยอดให้เด็กๆได้ฝึกใช้ทักษะที่ถูกต้อง ช่วยส่งเสริมนิสัยรักการทดลองของเด็กตาบอดได้ ซึ่งบุคลิกของเด็กที่สอน จะมีอยู่ 2 แบบ คือเด็กที่ละเอียด คือเด็กที่สามารถสอนได้ สื่อสารทางศิลปะได้อย่างชัดเจน และแบบที่สอง คือเด็กที่ระบายอารมณ์ ซึ่งเราก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะงานของเขาจะเป็นลักษณะนามธรรมและบริสุทธิ์มากๆ เพราะผ่านออกมาจากความรู้สึกจริงๆ นั่นทำให้เค้ามีความสุข และเมื่อผ่านเข้าสู่ระบบโครงการ สิ่งที่เขาได้รับคือฝึกให้เขานิ่งขึ้น จากผลงานที่เมื่อก่อนจะแปะทุกๆอย่างเข้าด้วยกัน กลับกลายเป็น ว่า ต้องการเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ แสดงให้เห็นว่าเค้าวิเคราะห์และเห็นถึงความพอดีได้มากขึ้น”

อีกหนึ่งคุณครูผู้ถ่ายทอดความรู้ศิลปะให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม “ศิลปะสัมผัสได้” รศ.ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สะท้อนมุมมองว่าศิลปะคือการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะคนที่มองเห็นเท่านั้น เพราะปัจจุบันทัศนศิลป์มีการขยายขอบเขตที่กว้างมากขึ้น มีการใช้สื่อและวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น งานบางชิ้นสามารถจับต้องได้ สามารถเล่นกับชิ้นงานได้ ถือเป็นการชมศิลปะได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
“น้องๆ ผู้พิการทางสายตาจึงเข้ากันได้ดีกับงานศิลปะ สร้างความภูมิใจกับผลงานศิลปะที่น้องๆได้ทำ เพราะเค้ารู้ว่าสามารถทำอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจ ให้เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมาได้ สร้างความภูมิใจ ความสนุก เรียนรู้จากตัวเองว่าเรามีความสามารถอะไร เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองในอนาคต ซึ่งอาจกลายเป็นศิลปินในอนาคตได้ หรือการนำแนวคิดตรงนี้ไปทำเป็นอาชีพก็ได้ ซึ่งในอนาคตพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเริ่มมีนโยบายในการปรับตัวพิพิธภัณฑ์ที่จะต้อนรับกับคนที่มีความต้องการพิเศษมากยิ่งขึ้น ในอนาคตถ้าน้องๆอยากที่จะทำงานในพิพิธภัณฑ์ก็จะมีความเป็นไปได้ยิ่งขึ้น ”

คุณชอน นิธิวิทย์ ชาติทรัพย์สิน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Cave Workshop Studio คืออีกหนึ่งผู้เข้ามาช่วยสานฝันให้ผู้พิการทางสายตาได้เห็นโลกของศิลปะกว้างเพิ่มมากขึ้น กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับทางธนาคารยูโอบี ในเรื่องของการสอนงานฝีมือซึ่งสอนให้กับผู้ที่มองเห็นปกติทั่วไป เพราะงานฝีมือส่วนใหญ่ต้องใช้ทักษะในการมอง การจำ ซึ่งการได้เข้ามาสอนในโครงการนี้ อยากให้น้องๆที่มองไม่เห็น ได้ลองทำงานฝีมือ ซึ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป ทุกคอร์สที่สอนก็จะถูกปรับ เพื่อให้น้องๆที่มองไม่เห็น เช่นการปักผ้า ที่ต้องใช้ผ้าซึ่งถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้มีรายละเอียดในการจำ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับรู้ถึงการเดินฝีเข็มผ่านจุดที่ได้วางไว้

“จุดประสงค์ที่แท้จริงไม่ได้วัดกันที่สวยหรือไม่สวย แต่เราอยากให้น้องได้สัมผัสถึงการมีส่วนร่วมในการใช้มือของตัวเองในการสร้างชิ้นงานขึ้นมา เช่น เราสอนให้น้องๆได้รู้จักการถักเชือก เมื่อชิ้นงานเสร็จ น้องๆจะนำเชือกเหล่านั้นไปใช้ผูกกระบอกน้ำและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งของที่เค้าทำด้วยการมองไม่เห็น จะทำให้เค้ารักมันและมีคุณค่ามากๆ ที่สำคัญคือสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพได้ ทำรายได้เพิ่มมากขึ้น หากทุกคนรวมกลุ่มกันและสร้างผลงานนำไปขายตามงานต่างๆ เพราะผลงานที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการยอมรับเพราะความสงสาร แต่เกิดขึ้นเพราะผลงานคุณเจ๋งและมีคุณภาพ เพราะบางชิ้นงานที่เค้ามองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าเป็นสีอะไร แต่สร้างคู่สีออกมาได้อย่างมหัศจรรย์”

ด้านน้องนุช ผู้พิการทางสายตา โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้บอกว่า ก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงงานศิลปะอย่างมากก็แค่ระบายสีแล้วก็วาดรูป ซึ่งชอบงานศิลปะมาก แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ พอได้เข้ามาเรียนรู้ถึงความหมาย ทฤษฎีต่าง รูปทรง เทคนิคการสร้างผลงาน ก็รู้สึกดีใจและชอบมาก พอได้ลงมือทำงานศิลปะการใช้เชือก การถัก การปัก ก็ดีใจมาก อยากทำแบบนี้มานานแล้วตั้งแต่เด็กๆ

“หนูมาร่วมเข้าเรียนเวิร์กช็อปเกือบทุกครั้ง เพราะชอบมาก ไม่มีโอกาสได้ทำแบบนี้ ประสบการณ์ ทักษะที่ได้รับดีมาก สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาชีพได้ ผลงานศิลปะบางชิ้นอาจนำไปขายสร้างรายได้ โตขึ้นหนูอยากเป็นครูสอนศิลปะ และถ้าหากหนูพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีก หนูก็อยากเป็นศิลปินสร้างผลงานให้คนได้รับรู้และจดจำ และให้คนอื่นรู้ว่าผู้พิการทางสายตาก็มีความสามารถไม่แพ้คนมองเห็นปกติคะ”

แม้จะมองไม่เห็น อยู่ในโลกความมืด แต่ศิลปะก็ขัดเกลาจิตใจและสามารถยกระดับ สร้างคุณค่า เพิ่มศักยภาพของคนเราได้ เพราะมุมมองศิลปะสวยไม่สวยไม่ได้อยู่แค่การมองเห็น แต่หากใช้ใจเปิดรับและสัมผัสถึงความหมายอันลึกซึ้งของงานศิลปะได้ นั่นแปลว่าการสื่อสารและสร้างสรรค์ของศิลปินประสบความสำเร็จ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ “ศิลปะสัมผัสได้” จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและจุดพลังของเหล่าน้องๆ ผู้พิการทางสายตาให้ก้าวข้ามและกลายเป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานสร้างอาชีพได้ในอนาคต