มธ. ดันไอเดีย “SCI+BUSINESS” สาขาวิชาใหม่ปั้นนักวิทย์พร้อมไอเดียธุรกิจ

103

นักวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่ ต้องไม่รู้แค่เรื่องวิทย์! วิทย์ฯ มธ. ดันไอเดีย “SCI+BUSINESS” พร้อมเปิดตัววิชาใหม่ปั้นนักวิทย์พร้อมไอเดียธุรกิจ

เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายคนคงทราบกันอยู่แล้วว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดล้วนมาจากวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า หลอดไฟ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องบิน รถไฟ ฯลฯ เมื่อวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน วิทยาศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อมนุษย์และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การพัฒนาให้บุคคลมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ ให้พร้อมนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยตรงต่อการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม

ทั้งนี้การเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าสามารถทำงานแค่ในห้องแลปหรือเป็นได้แค่นักวิจัยเท่านั้น ปัจจุบันการเรียนวิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจได้มากมาย เหมือนที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มุ่งเน้นการบ่มเพาะและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ กล้าคิด-กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกันจนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐ ตลอดจนความต้องการของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข รักษาการคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ปัจจุบันโลกของเรามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ฯลฯ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น โลกของเราจะไม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ ด้วยเหตุนี้ คณะฯ จึงมีความตั้งใจยิ่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวในการผลิต “นักวิทย์รุ่นใหม่” ที่มีความคิดนอกกรอบ กล้าพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างและสร้างสรรค์ ตลอดจนไม่ปิดกั้นศักยภาพตัวเองในการต่อยอดความรู้วิทยาศาสตร์ สู่นวัตกรรมสุดล้ำหรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างรายได้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันคณะฯ เปิดการเรียนการสอนครบทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวม 43 หลักสูตร ใน 10 สาขาวิชา ครอบคลุมทุกด้านเพื่อบ่มเพาะและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ตลอดจนการพัฒนาและพร้อมวางกรอบนโยบายในการพัฒนาเยาวชนไทย สู่บุคลากรคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความกล้าคิดนอกกรอบ และกล้าผลิตนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยที่ผ่านมาจากข้อมูลพบว่าบัณฑิตจบใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จได้งานทำในอัตราสูง นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้รอบทั้งในด้านวิชาการและปฏิบัติการ โดยสามารถบูรณาการเทคนิคและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมกับศาสตร์อื่นได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและวิทยาการที่ทันสมัย สะท้อนถึงศักยภาพและมาตรฐานการเรียนรู้ที่บ่มเพาะให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่ตรงใจองค์กร มีทักษะด้านบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการฝึกประสบการณ์ผ่านองค์กรในสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมก้าวสู่โลกการทำงานจริง ตลอดจนมีคอนเนคชั่นด้านการทำงานมาต่อยอดสู่การผสมผสานทุกองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจหรือนวัตกรรม อันเอื้อประโยชน์ต่อสังคมในหลากหลายแง่มุม และเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์อาชีพของโลกในทุกมิติได้อย่างครอบคลุม

ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้เปิดสอนวิชา “วท. 301” การประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Entrepreneurship in Science and Technology) สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป โดยวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่จะเปลี่ยนโฉมแนวคิดแบบเดิมสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ต้องการผลักดันแนวคิดของตัวเองเข้าสู่โลกธุรกิจจริง เรียนแบบนักวิทย์ คิดแบบผู้ประกอบการ โดยการเรียนการสอนจะมีคณาจารย์ทั้งจากภายในคณะ และวิทยากรจากภายนอกที่จะมาช่วยทั้งในเรื่องทฤษฎีและเป็นโค้ชธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสต่อยอดการเรียนรู้ด้วย Startup Boost Camp ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขา ผสานกับแนวคิดด้านธุรกิจ ทำให้รู้จักตลาด เข้าใจผู้บริโภค รวมไปถึงการหาแหล่งเงินทุนสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจจริง โดยวิชาดังกล่าวจะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ที่กำลังจะถึงนี้

นายธงชัย ลายโถ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (โครงการพิเศษ) มธ. เผยว่า ที่ตนเองเลือกเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (โครงการพิเศษ) มธ. เนื่องจากตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย  ตนเองมีความชื่นชอบและสนใจด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ. มีชื่อเสียงในด้านดังกล่าว โดยนักศึกษาที่เรียนจบไปได้รับโอกาสที่ดีในหลากหลายแวดวงโลกการทำงาน เนื่องด้วยตอนที่นักศึกษากำลังเรียนอยู่ที่นี่มีโอกาสได้เรียนรู้ แสดงความคิดเห็น ลงมือทำ ตลอดจนได้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้ไปทดลองงานกับองค์กรในสายงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับประสบการณ์การทำงานในหลากหลายมุม ซึ่งสิ่งนี้ตนเองรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และยังส่งผลต่อโอกาสได้รับการเข้าทำงานจากองค์กรเหล่านั้นอีกด้วย

ด้าน นางสาว ฐิติยากร รัตนเสรีสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเคมี มธ. เผยว่า สำหรับตนเองสำเร็จการศึกษาสายวิทย์-คณิต โดยตอนที่เรียนชั้นมัธยมปลายตนเองเป็นคนที่ชอบเรียนและมีความสนใจในสายวิชาเคมี ชอบการทดลอง การทำวิจัยสิ่งต่างๆ ชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ ๆ จึงทำให้ตนเลือกศึกษาต่อในสาขาเคมี โดยที่นี่เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ และที่สำคัญเปิดกว้างให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ทำให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ตลอดจนการทำงาน ทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งตนเองจะนำความรู้ที่ได้รับจากการได้มาศึกษาเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้กับตนเอง สังคม หรือประเทศชาติในอนาคตต่อไปด้วยเช่นกัน

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากเรียนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th  และเฟสบุ๊ค แฟนเพจ https://www.facebook.com/ScienceThammasat