ใช้ชีวิตให้มีความสุขกับโรคลมชัก

83

โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถควบคุมและรักษาให้หายขาดได้

จากความไม่เข้าใจของสังคม ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งต้องพบกับปัญหาในการดำรงชีวิตและเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง เนื่องจากอคติและการไม่ยอมรับจากสังคม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการศึกษาตามระบบหรือไม่สามารถหางานทำได้ ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6-7 แสนคน โดยมีทั้งผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการชักและมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายก็มีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างมีอาการชัก เนื่องจากการขาดอากาศในกรณีที่ชักต่อเนื่องไม่หยุด และหากคุมอาการชักได้ไม่ดีผู้ป่วยอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดกิจกรรม “ค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “ใช้ชีวิตฮื้อมีความสุขกับโรคลมชัก” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลมชักและการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมให้กับคนในสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคลมชักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ครอบครัวหรือผู้ดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย

เช่น ครูหรือพยาบาลในโรงเรียน รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป สำหรับการจัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชักนั้น ทางศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเป็นสาธารณประโยชน์ประจำทุกปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

พญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์

พญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์ กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา รองประธานและกรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักให้แพร่หลาย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย

ซึ่งจะสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยโรคลมชัก กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาวิชาการ เช่น แนะนำอาการของโรคลมชัก อธิบายขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษา แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ถูกต้อง รวมถึงเทคนิคในการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ

นอกจากนั้น ในค่ายผู้ป่วยโรคลมชักช่วงปีหลังๆ ยังมีกิจกรรมพิเศษ เช่น การแสดงความสามารถของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความสามารถทางดนตรีมาโชว์การเล่นเครื่องดนตรี เช่น อูคูเลเล่และเป่าแซกโซโฟน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะที่สนใจได้ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังได้เชิญตัวแทนผู้ป่วยที่เคยเข้าค่ายมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันจบการศึกษาและประกอบอาชีพที่มั่นคงด้วยการเป็นนักกายภาพบำบัด มาแบ่งปันประสบการณ์การดูแลตนเองว่า ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติหากควบคุมอาการชักได้ดี จะไม่มีปัญหาด้านการเรียน

โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ประสาทและกระแสไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติชั่วขณะ ทำให้ร่างกายแสดงอาการบางอย่างโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว เช่น เกร็ง กระตุก น้ำลายยืด ปากเขียว ซึ่งเป็นอาการที่สังเกตได้ง่าย

อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการบางอย่างที่สังเกตได้ยาก เช่น เหม่อ ซึม เรียกแล้วไม่ตอบสนองช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับเป็นปกติ ผู้ดูแลจึงต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปอาการชักจะหยุดเองภายใน 3 นาที แต่หากมีอาการนานเกินกว่า 5 นาที หรือหากผู้ป่วยมีอาการเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว มีอาการเขียว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

สำหรับการดูแลรักษา ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการไข้หรือเจ็บป่วย การขาดยากันชัก จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักคือ ทำให้อาการชักของผู้ป่วยลดลงเป็นศูนย์หรือเหลือน้อยที่สุด หากมีอาการ ก็รุนแรงน้อยที่สุด เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียใดๆ

“โรคลมชักเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ที่สำคัญคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักและการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล” พญ.กมรวรรณ กล่าว