ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

75

เครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีเสวนา ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

83 องค์กรอ่านแถลงการณ์ 8 ข้อหยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน ขณะที่ตัวแทน UN ระบุลงพื้นที่พบเกษตรกร ไร้ทีดินทำกิน ชาวนาชาวไร่ในหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบจากคำสั่งทวงคืนผืนป่าของคสช.จำนวนมาก เตือนรัฐอย่าละเมิดอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและที่ดินทำกินหลายฉบับที่ได้ลงนาม พร้อมประสานกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเต็มที่

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเสนอโมเดลป่าชุมชนป่าวัฒนธรรมเพื่อป้องกันการฟ้องร้องระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ยกกรณีปู่คออี้เป็นต้นแบบความสำเร็จในการต่อสู้พิสูจน์สิทธิที่ดินทำกิน ด้านอาจารย์อนุสรณ์อัดนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นการสยายปีกของกองทัพในฐานะเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของอำนาจเก่าหวังเอาใจชนชั้นกลาง พร้อมสถาปนาระเบียบอำนาจจัดสรรประโยชน์รัฐสมทบทุนใหญ่เฉียดเอากำไรให้ทานคนจนโดยไม่มองปัญหาของคนที่ฐานราก เสนอภาคประชาคมรวมตัวทานอำนาจรัฐและสร้างพลังในการแก้ปัญหาให้เกิดขึ้น

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรได้เสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง”

ทั้งนี้เวทีเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นสืบเนื่องจากนโยบาย “มาตรการทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ประกอบคำสั่ง ที่ 66/2557 ได้ส่งผลกระทบความเดือดร้อนอย่างหนักหน่วงต่อชาวบ้านคนจนทั่วประเทศ เช่นกรณีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้ามาปฏิบัติการจับกุม และยื่นฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ จำนวน 14 ราย 19 คดี

ซึ่งสถานภาพทางคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยครบทั้งหมด 14 ราย เวทีเสวนาในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยมีตัวแทนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้

น.ส. Therese Bjork ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) กล่าวนำการจัดงานในครั้งนี้ว่า กล่าวว่า ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกการเข้าถึงที่ดินเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดขององค์การสหประชาชาติ ที่ผ่านมา UN ได้ทำงานกับชุมชนหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่แก่งกระจาน พื้นที่ชุมชนคลองไทรที่สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ชุมชนไทรทองเพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ

ทั้งนี้จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ระบุสัดส่วนการถือครองที่ดินในประเทศไทยว่า ที่ดิน 30 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยเป็นของโดยเอกชน ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าของโดยรัฐ กรมป่าไม้และกรมที่ดิน และที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ในสิทธิครอบครองของเอกชนเป็นพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของเอกชนทั้งหมด มีชาวไร่ชาวนาเกษตรกรเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ครอบครองที่ดิน ส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักธุรกิจและนักการเมือง การกระจายที่ดินอย่างไม่เท่าเทียมทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้เกิดการแบ่งสรรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม

ความพยายามของรัฐไทยในการกำจัดการถางไม้ทำลายป่าคือการประกาศพรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.ป่าไม้ทำให้การแก้ปัญหาที่ดินในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

นายไพโรจน์ วงงาน ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่ากล่าวว่า กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ มี 5 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ความเป็นมา ก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยาน เดิมที ภาครัฐ ได้ผุดโครงการ จัดสรรที่ดินทำกิน แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ในพื้นที่ป่าสงวน เสื่อมโทรม หรือ คจก.

เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาทำกินอยู่อาศัย พอประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ก็มีการขอคืนและไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จนชาวบานต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ยกตัวอย่างกรณี นายทองพูน วงษ์งาม จากการสำรวจพื้นที่และพิกัด พบว่ามาการเข้ามาอยู่ ก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และไกลกว่าเขตที่ระกาศกว่า 10 กิโลเมตร กลับกลายเป็นว่า นายทองพูน กลายเป็นผู้บุกรุก อีกแปลง

การแก้ปัญหา เราเคยมีการเสนอให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน ที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ผ่านการมีป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ป่ากันชน รวมไปถึงพื้นที่ริมห้วย ซึ่งการมีป่าประเภทนี้ เราไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลป่า ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เขาจะดูแลให้เอง ตรงนี้เราสามารถเพิ่มพื้นท่าได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นี่คือแผนที่เราต้องทำร่วมกัน แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการเสนอไป แผนนี้ก็ไม่มีการผลักดันแบบเต็มรูปแบบ เราจึงอยากผลักดันแผนนี้ในการเป็นโมเดลในการจัดการร่วมกัน

ขณะที่นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศึกษากะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา กล่าวว่า เรื่องของการจับชาวบ้านกรณีที่มีการบุกรุกป่า มีมานานหลายสิบปี กรณีที่มีประกาศ ของคสช. ฉบับที่ 64 ในการทวงคืนผืนป่าของคสช. ฉบับที่ 66 ระบุชัดเจนว่า จะ ไม่กระทบ ต่อผู้ยากไร้ แต่ในปัจจุบัน กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นผู้ยากไร้ทั้งนั้น ล่าสุดแม้จะมีการยกเลิกประกาศนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ยกตัวอย่างกรณี ชาวบ้าน 3 ครอบครัวที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกฟ้องร้องโดยกรมอุทยานฯ กรณีรุกป่าจำนวน 3 ไร่ และถูกเรียกร้องค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้นกว่า 3 แสนบาท

ซึ่งตนมีโอกาสลงไปในพื้นที่จริง เพื่อนำข้อมูลนี้ไปยืนยันต่อศาลฎีกา พบว่า ป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งศาลก็เห็นพ้องต้องกัน โดยให้เหตุผลว่า กรณีกรมอุทยานฯ อ้างผลวิจัย เกี่ยวกับความเสียหาย เป็นการเก็บข้อมูลแบบคาดเดาไม่ใช่งานวิจัย สุดท้ายคดีนี้ชาวบ้านเป็นผู้ชนะ

ต่อมาเป็นกรณีของปู่คออี้ บ้านใจแผ่นดิน ที่ป่าแก่งระจาน ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการเผาบ้านไล่ที่ กรณีนี้เราเอาแผนที่ทหารยืนยัน ว่า ชุมชนนี้ อยู่มาก่อนนับ 100 ปี เป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ไปเผาและรื้อถอน กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ เราสามารถอ้างมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเอง ก็เห็นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเราสามารถอ้างตรงนี้ได้ หากผู้ที่ถูกร้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อน

กรณีชุมชนอยู่ร่วมกันกับป่าได้ ทั่วโลกสามารถดำเนินการและทำได้จริง ซึ่งโมเดล การอยู่ร่วมกันคนกับป่า ผ่านป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม สามารถทำได้จริง หากเราเสนออย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดขึ้น เชื่อว่า ปัญหาการฟ้องร้องเกี่ยวกับการรุกป่าก็จะไม่เกิดขึ้น หรือมีจำนวนน้อยมาก และที่สำคัญ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องมีความเป็นธรรมเหมาะสมเช่นกัน

ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กรณีภาครัฐฟ้องร้องชาวบ้านกรณีรุกป่า นับเป็นปัญหาเรื้องรัง มานาน ซึ่งส่งผลต่อหลักสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ยกตัวอย่าง กรณีปฏิญญา ไฟรบวร์ก ที่มีแผนการดำเนินงาน ให้ชาวบ้านและภาครัฐมาพูดคุยหาทางออกกัน เมื่อพูดคุยแบบตกผลึกแล้ว ก็หาทางออกร่วมกัน

เช่น การดำเนินการผ่านป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้ ขณะที่ความขัดแย้งในอดีต เราสามารถรื้อฟื้นเพื่อแก้ไขได้ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ต้องมีความเป็นธรรม และนับเป็นหัวใจที่ยึดโยงในส่วนของหลักสิทธิมนุษยชน

ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับต้องตรวจสอบได้ และกลไกในการตรวจสอบต้องเป็นการตรวจสอบแบบภายนอกแนวราบไม่ใช่แนวดิ่ง การใช้อำนาจรัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กรอื่นและต่อประชาชนด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการดำเนินคดีโดยรัฐทุกฝ่ายจะต้องกระตือรือร้นในการตรวจสอบค้นหาความจริง กระบวนการยุติธรรมจะต้องสร้างความเชื่อถือศรัทธา

โดยศาลสามารถที่จะไต่สวนมูลฟ้องเองได้ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องมาที่กระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย และศาลเองจะต้องประกันความบริสุทธิ์จำเลยได้ ที่สำคัญอัยการเองต้องตรวจสอบพยานหลักฐานให้ดีเพราะอัยการสามารถที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีเหล่านี้ได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองเราดีบ้านเมืองก็จะสงบ คดีนี้อัยการปฏิบัติภารกิจน่าจะสั่งไม่ฟ้องได้

เราหวังว่า หากข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้น ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่จะยุติลง อีกทั้งจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศ และเกิดมาตรการทางกฎหมาย นโยบายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หาไม่แล้ว ปัญหาข้อพิพาทเช่นกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม่รู้จบสิ้น