เปิดยุทธการต้าน! ยุคประเทศไทย หันไปไหนก็เจอ “มะเร็ง”

69

ถึงวันนี้แล้ว คนไทยทุกคนจำเป็นต้องรู้ว่า มะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก เพราะหากมองไปรอบกาย จะต้องมีใครสักคนที่เรารู้จัก “เป็นมะเร็ง” ด้วยพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่มีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น อากาศ อารมณ์ หรือ อาหาร ทำให้ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 170,495 ราย และมีจำนวนการเสียชีวิตจากมะเร็ง 114,199 ราย โดยมีผู้ป่วยมะเร็งสะสมในช่วง 5 ปี จำนวน 330,716 ราย

สำหรับโรคมะเร็งรายใหม่ที่มีลำดับสูงสุดในประชากรชาย คือ มะเร็งตับ รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งถุงน้ำดี ขณะที่ประชากรหญิง สัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ มะเร็งเต้านม รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และ มะเร็งตับ ตามลำดับ

“มะเร็ง” จึงยังคงเป็นปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย และหนทางที่ดีที่สุดของการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็ง คือ การดูแลป้องกันตัวเอง  การตรวจคัดกรองเพื่อหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตของคนทุกคน

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ได้จัดงาน “วิ่งเชิงสัญลักษณ์” และ “การแถลงข่าว” พร้อมเปิดยุทธการต้านมะเร็ง เพื่อเตรียมจัดงาน “การประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน  วรขัตติยราชนารี” ในระหว่างวันที่  8 – 9 สิงหาคม 2562  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดี คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ด้วยองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ทรงมีพระดำริที่จะสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านโรคมะเร็งของประเทศ จึงทรงเห็นชอบให้จัดการประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ  ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (Princess Chulabhorn International Oncology Conference 2019) ด้วยความร่วมมือจาก 4 สถาบัน   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์โดยเฉพาะด้านมะเร็งวิทยาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการวิชาการในสาขาต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา ระหว่างสถาบันทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นิสิตนักศึกษาในสาขาวิชา  ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ตลอดจนแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง รวมทั้งมีการรวบรวมประเด็นเพื่อเสนอแนวทางเชิงนโยบายและการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ภายใต้ประเด็นแนวคิดหลักของการประชุม คือ “New Frontiers in Cancer Combat” ให้แก่แพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สำหรับรูปแบบการจัดประชุมในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การประชุมวิชาการนานาชาติ (Main Congress) ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ การบรรยายทางวิชาการ สำหรับหัวข้อการประชุมทางวิชาการ  จะเน้นเรื่องการต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทยแบบองค์รวมและในทุกๆ มิติ ตั้งแต่การป้องกันมะเร็ง, การคัดกรองมะเร็ง การรักษาที่ทันสมัยที่มีการยอมรับทางด้านวิชาการว่าได้ประโยชน์ อาทิเช่น ยาต้านมะเร็งกลุ่มใหม่ๆ การรักษาด้วยการผ่าตัดที่ทันสมัยโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด รังสีรักษาที่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด  โดยวิทยากรของการประชุมครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิเช่น ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ แพทย์ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล วิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และระดับประเทศมาร่วมบรรยายและเสวนา มีการจัดแบ่งหัวข้อมะเร็งที่พบบ่อยในทุกๆ อวัยวะ ให้มีการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญ ในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ

ส่วนที่ 2 จะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย จะมีการคัดเลือกงานวิจัยดีเยี่ยมหรือมีคุณค่า เพื่อให้มีการนำเสนองานวิจัยที่มีคุณค่าที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดจากมะเร็งมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งสูงขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับฟังเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และสานต่อองค์ความรู้เรื่องโรคมะเร็งให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศให้ดียิ่งขึ้น และส่วนที่ 3 กิจกรรมภาคประชาชน เป็นกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านการส่งเสริมการดูแลเชิงป้องกันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมส่วนภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยุทธการต้านมะเร็ง” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็ง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่  การดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง  การตรวจคัดกรองโรคเพื่อให้การวินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และการดูแล รวมถึงการฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้วให้สามารถดูแลตัวเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมภาคประชาชนในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือกันเพื่อผลักดันเชิงนโยบายที่จะต่อสู้กับมะเร็งในระดับชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาและการให้บริการอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน

โดยการจัดงานวิ่งครั้งนี้ เป็นการวิ่งเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประชาสัมพันธ์งานประชุมวิชาการ และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ รวมถึงการกระตุ้นให้หันมาใส่ใจออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ นอกจากนี้    ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงความเห็นในแคมเปญ “มันจะดีถ้า…” เพื่อแสดงพลังในการต่อสู้กับมะเร็ง สะท้อนความคิดของทุกท่าน แล้วร่วมมือผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะ “วิกฤตมะเร็งเปลี่ยนได้ด้วยความร่วมมือ”

การจัดกิจกรรมภาคประชาชนนี้ จะดำเนินไปพร้อมกับกิจกรรมวิชาการหลัก ในวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562  เวลา 11.00-20.00 น. ในบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โซนเอเทรียม (Atrium zone)  ชั้น 3  โดยรูปแบบของการกิจกรรมประกอบด้วย นิทรรศการและกิจกรรมเวทีเสวนาสุขภาพให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องมะเร็งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น สมุนไพรกับมะเร็ง ความเชื่อเกี่ยวกับมะเร็ง การดูแลตนเองเพื่อให้ห่างไกลมะเร็ง  การประเมินความเสี่ยง และการสาธิตการตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสถาบันร่วมกับกลุ่มศิลปินดาราเข้าร่วมกิจกรรม

“มะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะทุกคนล้วนมีเพื่อน ญาติ หรือ คนรู้จัก ป่วยเป็นมะเร็ง การประชุมในครั้งนี้ นอกจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการเข้ามาศึกษาและเรียนรู้  โดยภายในงาน จะมีคณะแพทย์และนักศึกษาแพทย์คอยให้คำแนะนำ” ศ.นพ. สุทธิพงศ์ กล่าว

ด้านแนวทางการใช้สมุนไพรในการรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน ศ.นพ.สุทธิพงศ์  ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันกัญชา มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ในส่วนของการรักษา ยังต้องอาศัยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของการนำกัญชามาใช้ในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงเนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับ / พระประวัติ / เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ / ทูลกระหม่อมอาจารย์ /พระกรณียกิจด้านวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ / โครงการภายใต้ร่มพระบารมี / และพระกรณียกิจด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 สถาบันที่เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการ โดยนำเสนอเป็นอังกฤษทั้งหมด เพื่อสอดคล้องกับการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยรูปแบบนิทรรศการประกอบไปด้วยบอร์ดนิทรรศการ และ Interactive Zone นิทรรศการเฉลิมพระเกียรตินี้ จะจัดแสดงบริเวณ Pre-Function ชั้น 22 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้จัดไว้ให้เฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการเท่านั้น

“หากนำตัวเลขทางสถิติมาพิจารณาจะพบว่า คนไทย  100,000 คน จะป่วยเป็นโรคมะเร็งประมาณ 200 คน โดยในจำนวนนี้ต้องเสียชีวิตประมาณ 100 คน โดยทุกวันนี้ คนไทยต้องตายด้วยโรคมะเร็งวันละ 8-9 คน มะเร็งจึงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน ไม่เพียงแต่หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่หมายถึงประชาชน รวมทั้งภาครัฐ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้านนักร้องเสียงดี “หนุ่ย-นันทกานต์ ฤทธิวงศ์” ซึ่งเคยป่วยเป็นโรคมะเร็ง เมื่อปี 2545 และใช้เวลานับ 10 ปีในการรักษาจนหาย ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้ทุกคนได้ฟัง โดยเธอเล่าว่า เมื่อวันที่พบความผิดปกติของก้อนเนื้อที่หน้าอก เธอจึงไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้น หมอได้ระบุว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านม จากนั้นจึงเดินทางเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ ทำให้พบว่า แท้จริงแล้วเธอเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เต้านม

“ตอนที่หมอให้ตรวจซ้ำ เราก็ยินดี เพราะจะได้รู้ๆ กันไป และได้ดำเนินการรักษาแบบไม่ผิดทาง ตอนนั้นหมอถามว่า มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนด้วยไหม ก็บอกว่าใช่ ซึ่งเดิมทีนึกว่าตัวเองเป็นคนขี้ร้อน นอนในแอร์แล้วยังเหงื่อท่วม แถมยังเป็นคนผอม กินอะไรก็ไม่อ้วน”

คุณหนุ่ย เล่าว่า หลังจากรู้ว่าเป็นมะเร็ง เธอใช้ความอดทนและตั้งใจในการเข้ารับการรักษา  โดยมีกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบตัวเป็นพลังในการต่อสู้ เธอต้องรักษาด้วยการให้คีโม 6 ครั้งและฉายแสงอีก 20 ครั้ง พร้อมการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี จนทำให้มะเร็งหายขาด แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องทรมานและเต็มไปด้วยการปรับตัว

“มะเร็งเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่หมอ ไม่ใช่แค่ยา หรือ ไม่ใช่แค่ตัวคนไข้ เพราะต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการรักษา ตัวหนุ่ยเอง มีความเคร่งครัดในการเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ มันเป็นช่วงที่ต้องปรับตัว ต้องสู้อย่างมาก กว่าจะรับมือกับช่วงเวลานั้นได้ ทุกคนจึงมีส่วนสำคัญ”

และสิ่งสุดท้าย ที่คุณหนุ่ยอยากฝากไว้ ภายใต้แคมเปญ “มันคงจะดีถ้า….”  เป็นเสียงสะท้อนจากใจ อีกประเด็นหนึ่งที่ใครได้ฟังแล้วคงนึกออกว่า เหตุใดมะเร็งถึงอยู่ใกล้ตัวเรามาก และอาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน

มันคงจะดีถ้า….ผู้ผลิตหรือต้นทางของอาหาร มีความตระหนักถึงผู้บริโภค ผลิตอาหารด้วยการไม่ใช้สารเคมี ไม่เร่งสี เร่งโต ไม่เอาสารพิษมาให้เรากิน ซึ่งเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้คนปัจจุบัน เป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น”  หนุ่ย-นันทกานต์ ฤทธิวงศ์