ทีเอ็มบีมุ่งขยายฐานลูกค้าต่อเนื่อง ยังคงเน้นการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีคุณภาพ สำหรับไตรมาส 2 ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ทั้งในด้านรายได้และประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีกำไรสุทธิที่ 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสก่อนหน้า
ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งนายปิติ ตัณฑเกษม CEO กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินก่อนหักสำรองฯ 4,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ปัจจัยหนุนหลักมาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ประกอบกับการจัดการด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดี ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารยังคงดูแลอย่างใกล้ชิดและดำเนินการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาส 2 มีการตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 2,490 ล้านบาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสก่อนหน้า”
นายปิติ กล่าวต่อว่า “ทางด้านการเติบโตงบดุลนั้น ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายฐานเงินฝากจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก เน้นเลือกปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตปัจจุบัน เพื่อเสริมฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับดีลการรวมกิจการที่อาจจะเกิดขึ้น”
โดยในรายละเอียดนั้น พบว่า เงินฝากลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ยังคงเติบโตได้ดีและภาพรวม 6 เดือนแรกของปี เงินฝากจากฐานลูกค้ารายย่อยเติบโตได้ที่ 3.4 พันล้านบาท หรือ +0.8% จากสิ้นปีที่แล้ว นำโดยผลิตภัณฑ์เงินฝากหลักหรือ Flagship deposit ได้แก่ เงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม All Free เงินฝาก No-Fixed และเงินฝากรูปแบบดิจิทัล ME Save by TMB เติบโตได้ดีที่ +3.3%, +1.7%, +4.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงินฝากฐานลูกค้าธุรกิจลดลง 4.2 พันล้านบาท หรือ -2.1% ทำให้เงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 6.49 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับ 6.50 แสนล้านบาท ณ สิ้นปีที่แล้ว
สำหรับสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 6.80 แสนล้านบาท ลดลงจาก 6.86 แสนล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งผลจากการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวได้ต่อจากไตรมาสที่แล้ว ส่งผลให้โดยรวม 6 เดือนแรก สินเชื่อรายย่อยขยายตัวได้ที่ 6.4% ซึ่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ที่ 7.7% สำหรับการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กรายใหม่ ยังให้ภาพการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นผลจากการที่ธนาคารเลือกปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
ทางด้านรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านั้น ทีเอ็มบีมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาส 1 และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM อยู่ที่ 2.90% จาก 2.89% ในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% ตามการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการขายกองทุนรวม ทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 8,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 4,210 ล้านบาท ลดลง 11.1% จากไตรมาส 1 ที่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองสำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ (Employee Retirement Benefit) ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ที่ 4,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.5% ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ จำนวน 2,490 ล้านบาท และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4%
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารมีสัดส่วน NPL อยู่ที่ 2.74% ลดลงจาก 2.81% จากไตรมาสก่อน และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% โดยยังคงเป้าหมายปี 2562 ให้สัดส่วน NPL อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.9% และคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียให้สูงกว่า 140%
ท้ายสุดในส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier I ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 21.1% และ 13.9% เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ