สถานการณ์โรคคอตีบ เด็กเล็ก-วัยเรียน เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

18
ภาพโดย M W จาก Pixabay

โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้  ล่าสุด พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ (วันที่ 28 ก.ค. – 3 ส.ค. 62) จากกรมควบคุมโรค ได้รายงานถึงสถานการณ์ต่างๆ ของโรคคอตีบในประเทศไทย

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคคอตีบในประเทศไทย ปี 2562 มีการรายงานผู้ป่วยแล้ว 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยใน 9 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร นครราชสีมา อุดรธานี สระแก้ว ตาก เชียงราย ยะลา สตูล และสงขลา นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราป่วยของโรคคอตีบปีนี้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 และค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มอายุแรกเกิด-9 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคืออายุ 10-19 ปี

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคคอตีบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน (แรกเกิด-9 ปี และ 10-19 ปี) ซึ่ง 2 กลุ่มอายุนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียนประจำ ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงบางพื้นที่ของประเทศที่ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนยังไม่เพียงพอ

โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้  เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้น โดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการได้รับเชื้อจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็ก

หลังจากรับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวหรือสีเทาที่คอหอย ซึ่งอาจอุดกั้นทางหายใจ และอาจพบภาวะแทรกซ้อนเช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ในการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ จึงขอให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีน dT ครบตามเกณฑ์  นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422