ร่างกายของคนเราหากวันใดเกิดการทำงานบกพร่องผิดปกติไป จากคนที่แข็งแรงก็อาจจะป่วยร่างกายอ่อนแอขึ้นมาได้ และส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างเช่น โรคภูมิแพ้ตุ่มน้ำพอง
พญ.ฤดี ผาสุกถาวร แพทย์ด้านผิวหนังและเลเซอร์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า กลุ่มโรคตุ่มน้ำพองนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองซึ่งทำงานผิดปกติ ไปทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังแยกชั้นออกจากกัน กลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก กลุ่มโรคตุ่มน้ำพองมีหลายชนิด พบได้ไม่บ่อยนัก โดยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง
ในกลุ่มโรคนี้โรคที่พบได้บ่อยคือ โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน(Bullous pemphigoid) มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมาด้วยอาการผื่นแดงบวม คันมากคล้ายลมพิษ และต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ อาจแตกออกเป็นแผลถลอกตามตัว ส่วนอีกหนึ่งชนิดที่พบได้คือ โรคตุ่มน้ำพองชนิดลึก (Pemphigus vulgaris) จะพบตุ่มน้ำแผลถลอกตามผิวหนังและอาจพบที่เยื่อบุอื่นๆตามร่างกายได้ เช่น ช่องปาก จมูก อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดได้มาก
สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกตินั้น ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยมีรายงานว่ายาบางชนิดทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองได้ แต่ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่นั้นมักไม่มีสาเหตุ ในชีวิตจริงยังมีโรคผิวหนังอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำ และแผลถลอกตามตัวหรือเยื่อบุต่างๆได้ โดยหลายโรคพบได้บ่อยกว่าโรคตุ่มน้ำพอง ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส (เริม งูสวัด อีสุกอีใส) การแพ้ยารุนแรง ปฏิกิริยาจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่นผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก และการเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเฉียบพลันแบบรุนแรงก็ทำให้เกิดตุ่มน้ำได้ เป็นต้น
ดังนั้นหากมีตุ่มน้ำ หรือแผลถลอกตามตัว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยโรคตุ่มน้ำพอง สามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อทางห้องปฏิบัติการและตรวจทางอิมมูโนเรืองแสง การรักษาหลักของโรคตุ่มน้ำพองจะเป็นการใช้ยากดภูมิ เพื่อหยุดไม่ให้ภูมิคุ้มกันของตนเองมาทำลายส่วนประกอบของชั้นผิวหนัง
โดยการดำเนินของโรคตุ่มน้ำพอง ค่อนข้างเรื้อรังหลายเดือนถึงหลายปี ผู้ป่วยควรรับการรักษาต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดูแลและทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือร่วมกับใช้ยาทา ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ โดยตุ่มน้ำและแผลถลอกตามตัวนั้น หากดูแลรักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดแผลเป็น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้