นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 โชว์ผลงานพลิกโฉมวงการแบตเตอรี่ไทย  

98

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการใช้งานด้านต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล

“จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ใน 140 ประเทศทั่วโลกล่าสุด (The Global Competitiveness Report) พบว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 38 และความ สามารถด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 51 โดยมี R&D expenditures อยู่อันดับที่ 54 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ จากการจัดอันดับของ nature index ranking พบว่า ขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก จาก 161 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่ม Asia Pacific จาก 29 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่ม ASEAN 10 ประเทศ อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพบว่ามีเพียง 6.7 % เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์”

ดังนั้น การที่จะยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยขั้นแนวหน้า และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันต่อการพัฒนาโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อันเป็นการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)  ผู้คิดค้นและพัฒนา “วัสดุกราฟีนสู่นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า” ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2562 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

จากปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเฉียบพลัน และการขาดแคลนแหล่งพลังงาน ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากยังประสบปัญหาด้านความต่อเนื่องของการผลิตพลังงาน จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และมีความจุเพียงพอที่จะใช้งานได้ในระยะยาวควบคู่กัน ผศ.ดร.มนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านนาโนเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในด้านอุปกรณ์เชิงไฟฟ้าเคมีหลากหลายชนิด จึงได้คิดค้นและพัฒนาวัสดุกราฟีนแอโรเจลที่มีพื้นที่ผิวและรูพรุนจำเพาะสูง ลดการซ้อนทับกันของแผ่นกราฟีน เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมซัลเฟอร์ และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแบบผสมที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่าให้ค่าการเก็บประจุสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุตั้งต้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมากมาย รวมไปถึง การก่อตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน” (Centre of Excellence for Energy Storage Technology, CEST) และ โรงงานต้นแบบสำหรับผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง

ด้วยผลงานที่มีคุณภาพ ผศ.ดร.มนตรี จึงได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านต่าง ๆ และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง รวมถึงได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับโลกมากมาย โดยได้พัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า แบบถ่านกระดุม แบบกระเป๋า และแบบทรงกระบอก ในระดับโรงงานต้นแบบ มีการสร้างเทคโนโลยีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานของประเทศไทย ที่สามารถที่สามารถใช้งานได้ในหลากหลายอุปกรณ์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า

โดย ภายใน 2 ปีนับจากนี้ ผศ.ดร.มนตรี มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในปัจจุบันสูงถึง 3 – 5 เท่า ซึ่งจะทำให้แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น จากปัจจุบัน 5-6 ปี เป็น 10 ปี และจะพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะไกลขึ้นถึง 1,000 กิโลเมตร ขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน วิ่งได้ระยะ 400-500 กิโลเมตร และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าถึง 5 เท่า โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ แบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ จะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และหากเทคโนโลยีพัฒนาจนทำให้ต้นทุนต่ำลง จะมีผลทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าถูกลง สามารถต่อยอดสู่การผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทยได้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศในระยะยาว

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

  1. ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผลงานวิจัย “ตัวพาอนุภาคนาโน เพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ”

2.ผศ.ดร.เอกพันธ์ ไกรจักร อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัย “ความหลากหลายนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการของไบรโอไฟต์และไลเคนส์”

3.ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานวิจัย “นวัตกรรมนิติพันธุศาสตร์ แก้ไขปัญหาความมั่นคง”

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” นำโดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, คุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดร.วิไลพรเจตนจันทร์ Principal Innovation Advisor Office of the President and CEO SCG