กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และองค์กรเครือข่ายด้านวิชาการ จัดทำหลักสูตรชุดวิชาการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ ชื่อ “ddc001” รวมเนื้อหา 14 เรื่อง เพื่อให้แกนนำ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แนวคิด “เข้าถึง เข้าใจ ง่ายแค่คลิก”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค Dr.Thierry Roles ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวีและวัณโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และ ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ร่วมเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเปิดตัวการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ สำหรับเจ้าหน้าที่ภาคสนามและแกนนำเพื่อเข้าถึงกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง (MSM/TG) พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินในรายวิชาดังกล่าว จำนวน 22 ท่าน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 11.9 และสาวประเภทสอง มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 10.9 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ในการเข้าถึง ให้ความรู้กลุ่มเป้าหมาย ที่ภาครัฐมีข้อจำกัดและเวลาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อขยายการทำงานของภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการส่งต่อเข้ามาสู่ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ การเรียนรู้ออนไลน์จึงตอบโจทย์ เพราะสามารถเข้าถึงได้ ทุกที่ ทุกเวลา ที่ต้องการ
สำหรับหลักสูตรดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และองค์กรเครือข่ายด้านวิชาการ จัดทำหลักสูตรชุดวิชาการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ ที่มีเนื้อหาสำคัญ 14 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความหลากหลายทางเพศ 2.ความรู้ด้านเอชไอวี/เอดส์ 3.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 4.วัณโรค 5.ตับอักเสบ 6.วิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน PrEP (เพร็พ) & PEP (เป๊ป) และการใช้ถุงยางอนามัย 7.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 8.การให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี 9.จริยธรรมแกนนำและการนำผู้รับบริการเข้าสู่ระบบการรักษา 10.เพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งกระตุ้น 11.การใช้ฮอร์โมนเพื่อสุขภาพของหญิงข้ามเพศ 12.การเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี 13.ความร่วมใจในการกินยา และ 14.โภชนาการในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า หลักสูตร E-Learning ddc001 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงข้อมูล สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเรื่องเอชไอวีและเอดส์ เพื่อให้มีความรอบรู้ สามารถดูแลให้การปรึกษาด้านสุขภาพ และทำงานเชิงรุกได้อย่างมีมาตรฐาน โดยหลักสูตรทั้งหมดอยู่ที่เว็บไซต์ www.thaimooc.org รหัสวิชา ddc001 ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ หลักสูตรนี้มีคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันจัดทำขึ้น ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อประกอบการเรียนการสอนที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น เพื่อให้ประชาชนหรือแกนนำมีความรอบรู้ มีความเข้าใจ และสามารถให้การดูแล และให้การปรึกษาด้านสุขภาพ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3215 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ด้าน Dr. Thierry Roles ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวีและวัณโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้กล่าวแสดงความยินดี ที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย 90 แรกเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รู้สถานะการติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครแกนนำให้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้พื้นฐานด้านเอชไอวี/เอดส์ได้ด้วยตนเอง ด้วยการศึกษาแนวใหม่ในรูปแบบ E-learning ซึ่งเราพร้อมจะดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล Thailand 4.0
ส่วน ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวถึง ThaiMOOC เป็นระบบการศึกษาแบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเปิดโอกาสการศึกษาให้ทุกคนได้เข้าถึงง่าย สะดวก โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดใดๆ ซึ่งเว็บไซต์ ThaiMOOC.org อยู่ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาล “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”