ปลายฝนต้นหนาว ระวังโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

100

ไปไหนมาไหนในช่วงนี้ มักจะได้ยินว่าด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลง ร้อนสลับฝน ทำให้หลายคนป่วยเป็นไข้กันได้ง่าย รวมทั้งมีภาวะอาการท้องร่วง ซึ่งเดิมมักจะเข้าใจกันว่า เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าร้อน ที่ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย แต่ทราบหรือไม่ว่า ช่วงหน้าฝนและต้นหน้าหนาว เป็นเวลาที่เชื้อไวรัสเติบโตและอยู่ได้นาน

กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูล พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์  (วันที่ 22 – 28 ก.ย. 62) โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–16 ก.ย.2562 พบผู้ป่วย 758,321 ราย เสียชีวิต 6 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  จากข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ ของกรมควบคุมโรค ปี 2560-2562 มีรายงานผู้ป่วยอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าประปราย โดยพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน 8 เหตุการณ์ (ปี 60/2, ปี 61/3 และปี 62/3 เหตุการณ์) และพบว่ามีรายงานตรวจพบเชื้อไวรัสโรต้าในกลุ่มผู้ใหญ่ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำเพิ่มขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าอาจพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าเพิ่มขึ้น โดยปกติจะพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่อาจติดเชื้อจากการดูแลเด็กที่ป่วย หรือติดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นฤดูหนาวทำให้เชื้อไวรัสเติบโตและทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน  โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เกิดจากการรับเชื้อที่มากับอาหารและน้ำโดยตรงเข้าทางปาก หรือโดยอ้อมหลังการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส  โดยจะมีอาการภายใน 1-3 วัน และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้นาน 1 เดือนหลังเริ่มมีอาการ

ส่วนอาการของโรค คือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดอันตรายได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชน กรณีป่วยต้องดื่มน้ำเกลือแร่หรือสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปผสม หรือจัดทำสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ดื่มเอง ( สูตรผสมเกลือแร่ น้ำต้มสุก 1 ขวด (ขวดน้ำปลากลม 750 มล.) น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือเหลือ 1/4 ช้อนชา นำมาผสมหรือต้มรวมกัน) หรือ ชนิดที่มีเกลือต่ำ เพราะท้องเสียจากไวรัส เสียเกลือน้อยกว่า ตลอดจนไม่กินยาปฏิชีวนะ และยาหยุดการถ่าย รวมทั้งขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง  ล้างมือด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422