ไขกุญแจ 3 ข้อ ติดปีกประเทศไทยสู่โอกาสในอุตสาหกรรมอากาศยาน กับเป้าหมายสู่ฐานการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินของโลก
โมเดลการผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันอย่างเข้มข้น ผ่านการเดินหน้าพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า ให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากล จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดได้เร็วขึ้น สามารถดึงดูดรายได้จากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าตลาดที่อุตสาหกรรมไทยกำลังแข่งขันอยู่ในปัจจุบัน นำไปสู่ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางในไม่ช้า
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนประเทศไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตมีข้อต้องคำนึงหลายประการ บทความนี้จะพาไปสำรวจความพร้อมของภาคเอกชน หนึ่งในผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และนักวิชาการด้านมาตรวิทยา ว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดสำหรับเป้าหมายการเป็นฮับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของโลกในเร็วๆ นี้
นายเปรม เพทซ ผู้จัดการฝ่ายขายแผนก PCMM บริษัท เฮกซากอนเมโทรโลจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโตเร็วที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยด้านการผลิตและซ่อมบำรุงคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่ด้านการขนส่งทางอากาศคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน จึงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากเครื่องบินถือเป็นระบบขนส่งที่มีความปลอดภัยสูงสุด ต้องการความแม่นยำในการผลิตที่สูงในทุกกระบวนการ และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานระดับโลก การลงทุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่ได้มาตรฐานถือเป็นข้อคำนึงที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการที่พร้อมจะก้าวเข้ามาคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรมมาแรงนี้ การผลิตเครื่องบิน เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการผลิตเครื่องบินทุกลำ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างละเอียด
เฮกซากอนในฐานะผู้นำเทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพมาตรฐานการผลิต เตรียมส่งนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดคุณภาพของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อขานรับยุทธศาสตร์การผลักดันอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยล่าสุดเฮกซากอนได้ส่งเครื่องตรวจวัดท่อ (Tube Inspect P8) ซึ่งท่อถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่อยู่ในเครื่องบินหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์ไอพ่น ท่อไอเสียเครื่องบิน ระบบท่อแอร์ ท่อน้ำภายในเครื่องบิน เป็นต้น ระบบท่อเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจวัดคุณภาพของท่อ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน โดย Tube Inspect P8 สามารถช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของชิ้นส่วนได้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและผลิต ตลอดจนกระบวนการซ่อมบำรุง
ด้วยเทคโนโลยีการสแกนเพื่ออ่านค่ามาตรฐานออกมาในรูปแบบ 3D ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำเครื่องตรวจวัดนี้ไปสแกนที่ชิ้นส่วนที่ต้องการตรวจสอบได้ทันที โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 วินาที และสามารถนำค่าที่อ่านได้ไปตรวจสอบและพัฒนาต่อได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาถอดชิ้นส่วน เพื่อส่งไปตรวจสอบที่โรงงาน ทั้งนี้ เฮกซากอนยังเตรียมเร่งเครื่องพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบมาตรฐานชิ้นส่วนเครื่องบินที่ครอบคลุมในทุกส่วนประกอบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอากาศยาน นายเปรม กล่าวสรุป
ด้าน นายลทธพล จารุวัฒนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดทั่วโลกได้ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ “มาตรฐานทางคุณภาพ” เพราะมาตรฐานการผลิตเป็นตัวกำกับว่าสินค้าจากบริษัทนั้นๆ สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดระดับใดได้บ้าง ยิ่งสินค้าผ่านเกณฑ์ในมาตรฐานระดับสากล ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่สินค้านั้นๆ จะเข้าไปตีตลาดที่กว้างยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการมุ่งยกระดับเทคโนโลยีการผลิตเพื่อหวังแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้น จำเป็นต้องอ้างอิงมาตรฐานสากลเป็นหลัก ในทุกการลงทุนซื้อ หรืออัปเกรดเครื่องมือเครื่องจักร
โดยในปัจจุบัน กว่าร้อยละ 50 ของโรงงานผลิตไทย ยังใช้มาตรฐานการผลิตในโลกยุคเก่า หรือมาตรฐานที่ต่ำกว่า ISO 2010 ซึ่งถือเป็นระดับมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสามารถแข่งขันของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ที่ยังคงย่ำอยู่ในตลาดเดิมๆ อีกทั้งเผชิญกับคู่แข่งในระดับมาตรฐานเดียวกันจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการที่เล็งเห็นโอกาสในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่าสูงกว่า มีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้
1. หมั่นอัปเกรดและรักษามาตรฐานการผลิต ปัจจุบันมาตรฐานการผลิตแห่งชาติและสากลมีอยู่หลายระบบ อาทิ ISO/IEC DAkks NATA เป็นต้น ในทุกโรงงานการผลิตจะต้องมีการอ้างอิงระบบมาตรฐานอย่างน้อยหนึ่งระบบ โดยการสอบเทียบเพื่อให้ได้ใบรับรองคุณภาพการผลิต และสามารถนำสินค้าเข้าแข่งขันในตลาดได้ นอกจากการได้มาซึ่งมาตรฐานการผลิตแล้ว ผู้ผลิตยังต้องรักษาและควบคุมมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์อยู่เสมอ เพื่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์
2. เข้าสู่การผลิตแบบยืดหยุ่น (flexible manufacturing system) รูปแบบการผลิตของโรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงติดกับดักการรับจ้างผลิตเพื่อตอบสนองออร์เดอร์จำนวนมาก ในราคาถูก ในขณะที่ความต้องการของตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป สินค้าบางชนิดมีปริมาณการสั่งผลิตที่น้อยลง แต่มีมูลค่าสูงมาก เช่น หุ่นยนต์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ชิ้นส่วนโดรนที่มีคุณสมบัติพิเศษ ตลอดจนการผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ผู้ผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่การผลิตแบบยืดหยุ่น หรือการผลิตเพื่อรองรับออร์เดอร์จำนวนน้อย หลากหลายรูปแบบ เพื่อคว้าโอกาสในการรับออร์เดอร์งานจากการผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
3. สร้างแบรนด์ดิ้งสู้ตลาดโลก นอกจากคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน และความสามารถในการปรับตัวไปสู่การผลิตแบบยืดหยุ่น ผู้ประกอบการไทยยังต้องเร่งสร้างการรับรู้ และชื่อเสียงของแบรนด์ไปพร้อมกัน อาทิ การพบปะกลุ่มลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจในการยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรม การนำเสนอสินค้า บริการที่น่าสนใจ ตามโอกาสในงานประชุม สัมมนา งานจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมที่น่าสนใจ เป็นต้น เพื่อให้ภาคการผลิตไทยก้าวทันคู่แข่งต่างชาติ ทั้งในแง่คุณภาพ และการเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม แนวทางการยกระดับภาคการผลิตที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตจากต่างชาติ เพื่อนำมาเรียนรู้และปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการผลิต (Copy & Research) จากนั้นจึงทำการวิจัย และพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของประเทศ
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ได้ส่งเสริมผู้ผลิตไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตอันล้ำสมัยจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ผ่านการจัดงาน “ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019” มหกรรมรวบรวมสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตลวดและท่อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอากาศยาน ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคของไทย รองรับการติดปีกประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นายลทธพล กล่าวทิ้งท้าย