“มะเร็งปากมดลูก” ชื่อนี้แค่ได้ยิน สาวๆ ก็รู้สึกกลัวแล้ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้มากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วย โดยทุกปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ในจำนวนนี้จะเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 6,500 คน หรือวันละ 17 คน
มะเร็งปากมดลูกเกิดได้อย่างไร
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่ติดเชื้อนี้กว่า 80% จะไม่มีอาการ และอาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยร่างกายสามารถกำจัดออกไปได้เอง แต่มีบางส่วนที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เป็นระยะก่อนมะเร็ง และนำไปสู่การเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ดังนั้น คนที่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเซลล์ปากมดลูกมีโอกาสติดเชื้อเร็วกว่าและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งได้เร็วกว่า นอกจากนี้ คนที่มีคู่นอนหลายคนก็มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องบางชนิด และคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่แข็งแรง เมื่อมีการสัมผัสกับไวรัส HPV จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งตามมาได้สูงกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง สำหรับกลุ่มอายุที่มีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 30 – 50 ปี
อาการแบบไหนที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก
นายแพทย์ธีธัช อดทน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวถึงวิธีสังเกตอาการที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกว่า อาการหลักๆ คือมีเลือดออกทางช่องคลอด ปกติรอบเดือนจะมาทุก 28 วัน แต่ละรอบไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ และไม่ควรมีเลือดออกก่อนหรือหลังรอบเดือนปกติ หากมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน หรือรอบเดือนมานานขึ้น หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นอาการที่ต้องสงสัยว่าจะมีก้อนที่บริเวณช่องคลอดปากมดลูกหรือไม่ หรือว่าเป็นก้อนเนื้องอกโรคมะเร็งหรือไม่ ส่วนอาการอื่นๆ อาจมีตกขาวมากผิดปกติ หรือถ้าติดเชื้อที่ก้อนก็อาจมีตกขาวหรือมีหนองได้ คนไม่เคยตรวจภายในมาก่อนแล้วมีอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะพบก้อนขนาดใหญ่แล้ว หรือมีรอยโรคค่อนข้างมาก ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการที่มีเลือดออก เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนจะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูว่าเซลล์นั้นเป็นมะเร็งหรือไม่
เจาะลึกวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก
เป็นความโชคดีที่ทางการแพทย์ทราบสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีวิธีตรวจค้นหาก่อนระยะเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันได้ด้วย ซึ่งนายแพทย์ธีธัช ได้กล่าวว่า วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV คือ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่มีคู่นอนหลายคน หากมีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันการติดเชื้อด้วยการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิในการกำจัดเชื้อ HPV เพื่อที่ว่าเมื่อมีการติดเชื้อ ร่างกายก็จะกำจัดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถตอบได้ว่าวัคซีนจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าภูมินั้นเพียงพอมากน้อยแค่ไหนหรือมีการติดเชื้อมาก่อนที่จะได้รับวัคซีน ทั้งนี้ แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนเนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าการไม่ได้รับวัคซีน
การป้องกันในขั้นต่อไป คือ การตรวจเพื่อค้นหาระยะก่อนมะเร็ง ปัจจุบันมีการตรวจที่เรียกว่า แปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา โดยตรวจบริเวณปากมดลูก และเก็บเซลล์บริเวณนั้นไปตรวจว่ามีเซลล์ลักษณะผิดปกติหรือไม่ เช่น เป็นระยะก่อนมะเร็งหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเป็นมะเร็งแล้ว เมื่อวินิจฉัยแล้ว ก็มาตรวจเพิ่มเติม เช่น ถ้าสงสัยว่ามีเซลล์ผิดปกติเป็นเซลล์ระยะก่อนมะเร็ง ก็มาดูที่ปากมดลูก ซึ่งจะมีการตรวจพิเศษที่เรียกว่า Colposcope หรือการส่องกล้องตรงบริเวณปากมดลูก เพื่อขยายดูว่าเซลล์บริเวณนั้นมีลักษณะผิดปกติจากเซลล์อี่นๆ หรือไม่ แล้วตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้นไปตรวจยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ถ้าเป็นคือเป็นระยะใด ถ้ามีแนวโน้มว่าเซลล์บริเวณนั้นมีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งสูง การรักษาก็คือตัดบริเวณปากมดลูกบริเวณโดยรอบนั้น โดยไม่ต้องรอให้กลายเป็นมะเร็ง
การตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี หรือไม่ควรห่างกันเกิน 2-3 ปี เริ่มตรวจตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ และตรวจไปตลอดจนกว่าจะอายุ 60 ปี ถ้าไม่พบความผิดปกติ สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ก็มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน แนะนำว่าควรตรวจเช็คตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป
ตัดมดลูกแล้วเป็นมะเร็งปากมดลูกได้หรือไม่
สำหรับข้อสงสัยนี้ นายแพทย์ธีธัช กล่าวว่าต้องดูประวัติเก่าประกอบด้วย เพราะมดลูกมี 2 ส่วน คือ ตัวมดลูก และปากมดลูก ถ้าตัดแค่ตัวมดลูกแต่ยังเหลือปากมดลูก ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ถ้าตัดตัวมดลูกพร้อมปากมดลูก มะเร็งก็จะไม่เกิดที่บริเวณปากมดลูก
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฉีดอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
โดยปกติแล้ว การฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยแนะนำการฉีดวัคซีนที่อายุน้อยๆ คือช่วงอายุ 9-11 ปีจะดีที่สุด เพราะจะกระตุ้นภูมิได้สูง และโอกาสการสัมผัสไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ก็จะน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม หากอายุมากแล้ว การฉีดวัคซีนก็มีประโยชน์มากกว่าไม่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้ กรณีที่ฉีดวัคซีนก่อนอายุ 15 ปี ต้องฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 จะเว้นช่วงจากเข็มแรก 6 เดือน แต่ถ้าอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องฉีด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 เว้นช่วงจากเข็มแรก 1-2 เดือน หลังจากนั้นอีก 6 เดือนให้ฉีดเข็มที่ 3
ผู้ชายก็ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
หลายคนสงสัยว่าผู้ชายไม่มีมดลูก จะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกทำไม ซึ่งกรณีนี้ นายแพทย์ธีธัชกล่าวว่า ผู้ชายก็สามารถฉีดได้ เพราะไวรัส HPV ส่งผลกับผู้ชายด้วย โดยทำให้เป็นหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก และมะเร็งทวารหนักได้ หากใครต้องการป้องกันโรคเหล่านี้ ก็ให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ โดยแนะนำการฉีดวัคซีนที่ช่วงอายุ 9-21 ปี
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก หรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสหเวช จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก: Principal Healthcare Company