ปัจจุบันสังคมกำลังเผชิญกับภาวะข้อมูลข่าวสารท่วมท้น จากการไหลเวียนของข่าวสารที่รวดเร็ว และทุกคนเป็นทั้งผู้รับสารและส่งสารได้ในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะในสื่อโซเชียล ซึ่งมีข้อมูลข่าวสารอยู่มากมาย แต่จะมีความถูกต้องน่าเชื่อถือที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่ประชาชนควรให้ความสำคัญ
งานวิจัย “ทบทวนสถานการณ์และกลไกการจัดการความแตกฉานด้านสุขภาพ” ของ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นักวิจัยสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า การทบทวนวรรณกรรมวิจัยต่างประเทศด้านพฤติกรรมศาสตร์ พบว่า ตั้งแต่ตื่นนอนถึงนอนหลับในแต่ละวันของคนเราจะมีเรื่องราวให้ใช้การคิดและตัดสินใจเฉลี่ย 2,500-10,000 ครั้ง/วัน โดยพบว่า มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้เหตุผลและความรู้ประกอบการตัดสินใจ ส่วนร้อยละ 80 มีการใช้อารมณ์และบริบทแวดล้อมตัดสินใจ ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องมาจากการเชื่อโฆษณา การเชื่อตามวัฒนธรรม ค่านิยม บริบทสังคม เป็นต้น
ดังนั้น ข้อมูลจากการบอกต่อหรือโฆษณาในโลกออนไลน์ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ลดความอ้วน อาหารเสริมต่างๆ ล้วนมุ่งให้เกิดการซื้อจึงเน้นการให้ข้อมูลเพื่อโน้มน้าวใจมากกว่าเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของเนื้อหา หากขาดการไตร่ตรองอาจหลงเชื่อ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หรือในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอยู่บ้างและพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ยังอาจปฏิบัติตัวได้ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะอาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น การเข้าใจว่าการลดความอ้วน เพียงการกินในปริมาณน้อยลงในประเภทอาหารแบบเดิมหรือออกกำลังกายด้วยการเดิน วันละ 10 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหวังว่าน้ำหนักจะลดลง ในความเป็นจริงแล้วแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไม่ช่วยต่อการลดน้ำหนักได้เพียงพอ
สวรส. ชวนแชร์ความรู้จากวิจัย เพื่อการมีสุขภาพดี
ทุกวันนี้ ความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนทุกกลุ่มวัย ซึ่ง “ความรอบรู้ทางสุขภาพ” หมายถึง ระดับความรอบรู้และความสามารถของบุคคลในการกลั่นกรอง ประเมิน ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากทุกช่องทาง และตัดสินใจจากข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองและประเมินแล้วนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ หรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้อง
และในวันนี้ สวรส. ขอให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความรู้ทางสุขภาพ และชวนแชร์เกร็ดความรู้สุขภาพจากแหล่งข้อมูลวิจัยที่น่าเชื่อถือ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง : การลดน้ำหนัก ต้องพยายามกินอาหารให้น้อยลง (ในอาหารประเภทเดิม) หรืออดอาหาร และออกกำลังกาย วันละ 5-10 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ !
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าการลดน้ำหนัก ควรผสมผสานทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน และเพิ่มการใช้พลังงานผ่านการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ โดยการลดน้ำหนักให้ได้ผล คือ
การบริโภคอาหาร
การปรุงอาหารที่ให้พลังงาน ไขมัน และน้ำตาลต่ำ เป็นเคล็ดลับในการลดน้ำหนัก เช่น การตัดหนังหรือไขมันบนเนื้อสัตว์ทิ้ง เลี่ยงอาหารทอดและผัด ใช้กระทะแบบไม่ต้องใช้น้ำมันมาก ช้อนไขมันจากน้ำต้มกระดูกหรือส่วนบนของอาหารออก ก่อนนำมาปรุงอาหารหรือรับประทาน เป็นต้น
ควบคุมพลังงานจากอาหารที่บริโภคในแต่ละวันให้ได้น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ออกไป โดยทำให้ร่างกายขาดดุลพลังงานวันละ 500 กิโลแคลอรี่เป็นเวลา 1 สัปดาห์ น้ำหนักจะลดลง 0.5 กิโลกรัม ทั้งนี้ ผู้หญิงควรได้รับพลังงานต่ำสุดเฉลี่ย 1,200 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้ชายควรได้รับพลังงานต่ำสุดเฉลี่ย 1,600 กิโลแคลอรี่/วัน เพื่อป้องกันการขาดวิตามินและเกลือแร่ โดยกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และกระจายพลังงานให้ได้ตามกำหนด จะช่วยลดความหิวและอ่อนเพลียได้
การออกกำลังกาย
ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที ในคนอ้วนควรออกกำลังกายให้ได้วันละ 60 นาที ความหนักของการออกกำลังกายควรอยู่ในระดับปานกลาง (อัตราการเต้นของหัวใจที่ 60-65% ของอัตราการเต้นสูงสุด) เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง แอโรคบิก ปั่นจักรยาน โดยทำให้ได้อย่างน้อย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ หรือทำได้ทุกวันยิ่งดี จะช่วยเผาผลาญพลังงานได้เฉลี่ย 500-700 กิโลแคลอรี่/ครั้ง ซึ่งควรทำต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ หรืออาจใช้หลักการ ถ้าต้องการลดน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัมใน 1 สัปดาห์ ต้องทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 3,500 กิโลแคลอรี่/สัปดาห์
ที่มาข้อมูล : ประเสริฐ บุญเกิด และคณะ, “ผลการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี ปีที่ 2”, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2560
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง : ความหวานจากน้ำตาลเพียงเท่านั้น ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิด “โรคเบาหวาน” !
ข้อมูลจากงานวิจัย : พบว่าความจริงแล้ว น้ำตาลไม่ได้เป็นต้นเหตุเดียวที่ทำให้เกิด “โรคเบาหวาน” ได้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน ได้แก่
การนอนดึกตื่นสาย
การนอกดึกตื่นสาย ถือเป็นการนอนผิดเวลาธรรมชาติไป ทำให้ร่างกายมีค่าน้ำตาลในเลือดสูง และจะตอบสนองต่อเบต้าเซลล์ในตับอ่อน ที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินเพื่อการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุให้คนที่นอนดึกตื่นสายจะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนที่เข้านอนเร็ว
การนอนกรน หรือ มีภาวะการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนระหว่างนอนหลับ
การกรน จะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด ส่งผลให้การตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ร่างกายจึงต้องกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น เป็นต้นเหตุภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เป็นปกติ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานตามมา
ที่มาข้อมูล : ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี และคณะ, “อัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดกับระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงหรือภาวะก่อนจะเป็นเบาหวาน”, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2561
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง : ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าควรใช้เท้าผิงไฟเพื่อคลายหนาว หรือเอาเท้าแช่น้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรค !
ข้อมูลจากงานวิจัย : พบว่าการใช้เท้าผิงไฟและเอาเท้าแช่น้ำร้อน อาจทำให้เท้าเปื่อยและแผลติดเชื้อได้ง่ายจนอาจต้องถูกตัดเท้าในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผล ดังนั้นการดูแลตนเองที่ถูกต้องอย่างง่ายๆ ทำได้ ดังนี้
หลีกเลี่ยงการแช่เท้า หรือย่ำในน้ำที่อาจมีเชื้อโรค, ล้างเท้าทุกวัน, ตรวจเท้า โดยคลำหาตาปลาหรือหนังเท้าว่าหนาขึ้นผิดปกติหรือไม่, ทาครีมหรือน้ำมันมะกอกที่เท้าเป็นประจำ, ดูแลผิวหนังและตัดเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ, ใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า, ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้อยู่ในบ้าน, ตรวจสอบภายในรองเท้าก่อนสวม, ใช้รองเท้าที่ขนาดเหมาะสมกับเท้า, ออกกำลังกายเท้าเพื่อให้เท้าแข็งแรง เช่น ฝึกใช้เท้าขยำหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ หากมีอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาก่อนแผลเบาหวานลุกลาม จนต้องถูกตัดขา/เท้าทิ้ง
ที่มาข้อมูล : กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม และคณะ, “ภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ปีที่ 3”, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2561
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง : ควันบุหรี่ ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองเท่านั้น !
ข้อมูลจากงานวิจัย : พบว่า ควันบุหรี่ไม่เพียงเป็นอันตรายกับคนที่สูบ และคนรอบข้างหรือคนรับควันบุหรี่มือสองเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เด็กที่เคยเป็นโรคหอบหืด เกิดอาการกำเริบได้อีกด้วย
งานวิจัยพบว่า สภาวะแวดล้อมของผู้ป่วยที่มีคนสูบบุหรี่ในบ้านหรือบริเวณบ้าน เป็นปัจจัยสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาฉุกเฉินหรือรักษาตัวช้ำของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด เนื่องจากได้รับควันบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจถี่ มีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก ดังนั้นควรจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปราศจากควันบุหรี่ ไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาภาวะหอบเฉียบพลันในลูกหลาน แต่ยังลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกด้วย
ที่มาข้อมูล : ภาสกร ศรีทิพย์สุโข และคณะ, “ภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงวี้ด”, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2561
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลความรู้จากงานวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางดูแลตนเองได้อย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อการมีสุขภาพดี โดยสามารถติดตามงานวิจัยฉบับเต็มของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ทาง http://kb.hsri.or.th