ด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีอยู่ วิถีกิน วิถีถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย และถือได้ว่า เป็นสมบัติล้ำค่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม หรือ การต่อยอดเพิ่มเติมเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ท่องเที่ยวไทยก็ยังมีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมาย เปรียบเสมือน “ขุมทรัพย์” ที่ต้องเดินทางไปตามหา
ไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมกับแอปพลิเคชั่น TikTok จัดกิจกรรม โครงการสร้างสรรค์ส่งเสริมสินค้า (Tourism Treasures throughout Thailand) หรือ “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” เชิญชวนบุคคลทั่วไป ร่วมสนุกกดไลก์ และแชร์วิดีโอ แนะนำขุมทรัพย์ท่องเที่ยวที่โดนใจตนเองไปยัง Facebook หรือ Instagram จากนั้น Hashtag #ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย พร้อมเขียนแคปชั่นสุดเจ๋งเล่าเหตุผล เพื่อบอกต่อกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง
โดยผู้ร่วมสนุกจะมีสิทธิลุ้นรับแพ็กเกจท่องเที่ยวใน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม (จังหวัดอุดรธานี), เส้นทางท่องเที่ยวเชิงมูลค่า (จังหวัดภูเก็ต), เส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ (จังหวัดกาญจนบุรี) และเส้นทางท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พาผู้โชคดี 10 ท่าน พร้อมสื่อมวลชน ร่วมเดินทางไปเบิกร่องโครงการขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ในเส้นทางท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ได้เกิดการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นขุมทรัพย์ท่องเที่ยวของไทย และบอกต่อผ่านโลกออนไลน์ในวงกว้าง
ด้วยความโชคดีที่ทางจังหวัดอุดรธานีได้บูรณะอาคารราชินูทิศ อันเก่าแก่อายุกว่า 90 ปี พร้อมจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ณ เวลานี้เสมือนกลับมามีชีวิต และเพิ่งเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้มาเยือนเข้าถึงรากเหง้าดินแดนศิลปะอุดรธานีแห่งนี้ได้ชัดเจน
ภายในพิพิธภัณฑ์สีเหลือง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดอุดรธานี นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ธรรมชาติวิทยา, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม แม้ยุคไดโนเสาร์บ้านเชียงจะผ่านมากว่า 5,000 ปี ก็ยังมีเรื่องราวให้กล่าวขานผ่านแสง-สี-เสียง ให้ได้ประทับใจมากมาย
หลงวัฒน์ : ข้าวนอกนา
“วัฒนธรรมอาหาร” จังหวัดอุดรธานี มีเรื่องราวมากมาย ผ่านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ความหวาดระแวงในสงคราม จนวิวัฒน์มาสู่เมนูอาหารเพื่อความอยู่รอด ดังเช่น เส้นแป้งสีขาวข้น จมอยู่บนถ้วยชามใบโอ่ มีหมูยอ, ซึ่โครง ลอยคอโรยด้วยหอมเจียว และผักชีฝรั่งซอยหั่น บีบมะนาวปรุงรส เค็ม-เผ็ด ได้ตามอำเภอใจ คนเวียดนาม เรียก “เฝอ” คนลาว เรียก “ข้าวเปียก” แต่ไทยเราเรียก“ก๋วยเตี๋ยวญวน” อีกหนึ่งเมนูอาหารเวียดนามที่ขึ้นชื่อ ไม่ใช่แค่ “แหนมเนือง” ปัจจุบัน “ก๋วยเตี๋ยวญวน” เป็นอาหารเพื่อนบ้าน หารับประทานได้ทุกเวลาในจังหวัดอุดรธานี
ศาลปู่-ย่า : ชาติพันธุ์คนโพ้นทะเล
อุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดของไทย ที่ชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาร่วมเกือบร้อยปี แหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวจีนโพ้นทะเล คือ ศาลเจ้าปู่-ย่า สถานีที่เก็บรักษามังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
คำชะโนด : ตัวเลขแห่งศรัทธา
อีกหนึ่งสถานที่ ซิกเนเจอร์ ที่คนไทยหลายคนต้องการไปสัมผัส ในบาทวิถีแห่งชีวิต และความเชื่อ ความศรัทธาต่อพญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ขุดแม่น้ำโขง “คำชะโนด” หรือป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี สถานที่ท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ยอมข้ามลำน้ำโขว มาสักการะดินแดนลี้ลับแห่งนี้
ทริป “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” ครั้งนี้ คุณอัครฉัตร ขันธะมูล ประธานสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคอีสานเขต 3 ผู้เลื่อมใสและศรัทธาเจ้าปู่ศรีสุทโธ แกนนำในการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดระเบียบคำชะโนด ได้ให้การต้อนรับ และเชิญ ปู่เขียว หรือคุณลุงสุวัฒน์ เกินดี ผู้นำจิตวิญญาณของชาวอำเภอบ้านดุง มาเป็นเจ้าพิธีบวงสรวง พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี
บ้านเชียง : เสพศิลป์ เพื่อสืบสาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง การค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหมู่บ้านเชียง เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียง พบเห็นเศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงจำนวนมาก และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนประชาบาล
เหล่านี้ คือ สิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม หรืออารยธรรมขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ดินแดนหมากแข้ง อุดรธานี