ม.มหิดล จัดหลักสูตรเรียนร่วม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ

19

สิทธิคนพิการ เป็นทั้งเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และวิสัยทัศน์อาเซียน 2568 โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประเมินว่ามีคนพิการร้อยละ 10 ในจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ ซึ่งในอาเซียนมีประชากรรวม 10 ประเทศ จำนวนกว่า 650 ล้านคน จะพบว่ามีคนพิการถึง 65 ล้านคน

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสความเข้าใจต่อคนพิการและระดมการสนับสนุนแก่คนพิการเพื่อศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ของคนพิการ ตลอดจนเป็นการสร้างความตื่นตัวของประชาชนต่อคนพิการในทุกๆ ด้าน

กระทรวงศึกษาธิการ ได้แบ่งความพิการหรือความบกพร่องออกเป็น 9ประเภท ได้แก่ บกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางสติปัญญา ทางร่างกายหรือสุขภาพ ทางการเรียนรู้ ทางการพูดและภาษา ทางพฤติกรรมและอารมณ์
ออทิสติก และพิการซ้อน

โดยได้มีนโยบายการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับโอกาสเข้าเรียนในสถานศึกษาเดียวกันกับเด็กทั่วไป โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้การดำรงชีวิตอย่างไม่มีข้อจำกัด และอุปสรรคใดๆ ตามศักยภาพของผู้เรียนที่มีความจำเป็นพิเศษที่จะสามารถเรียนได้ หรือที่เรียกกันว่า Inclusive Education หรือการเรียนร่วม
ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ได้รับสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนปกติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่สถาบันการศึกษาจะสามารถทำเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ คือ การเปลี่ยนทัศนคติของคนปกติให้เข้าใจว่าผู้พิการก็สามารถทำงานและอยู่ร่วมในสังคมได้เหมือนคนปกติ จึงเป็นที่มาของ Inclusive Education โดยเราพยายามให้นักศึกษาพิการเรียนร่วมกับนักศึกษาทั่วไปได้ โดยที่ไม่มีข้อจำกัด ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน หรือผู้ว่าจ้าง

โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้ง หน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ หรือที่เรียกว่า DSS (Disability Support Service) เพื่อที่จะช่วยเหลือนักศึกษาผู้พิการให้สามารถที่จะเรียนรู้และอยู่ในสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เหมือนนักศึกษาทั่วไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อมพิเศษ คอยอำนวยความสะดวกตั้งแต่สอบเข้า และระหว่างเรียน ไปจนถึงมีการประชาสัมพันธ์ทุนให้กับนักศึกษาผู้พิการ และช่วยหางานให้เมื่อเรียนจบด้วย

แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ถ้าเทียบในระดับนานาชาติประเทศไทยถือว่าอยู่แนวหน้าในเรื่องการเป็นผู้นำขับเคลื่อนพิทักษ์สิทธิผู้พิการ เนื่องด้วยเรามีผู้พิการคนไทยที่เป็นผู้นำในการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิคนพิการ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิด้านการศึกษาและการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อก่อนคนจะคิดกันว่าถ้าเป็นผู้พิการจะต้องมาเรียนที่วิทยาลัยราชสุดาฯ แต่จริงๆ แล้วหากเขามีความสามารถจะเลือกเรียนคณะไหนก็ได้ตามความสนใจ และมีการเตรียมความพร้อมที่ดี

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยราชสุดา และ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ได้ร่วมกันจัดหลักสูตรการโรงแรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาหูหนวกได้เข้าไปฝึกงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดี MUIC เปิดเผยว่า ที่ศาลายาพาวิลเลียน MUIC ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาหูหนวกของวิทยาลัยราชสุดาได้มาฝึกงานด้านการโรงแรมกับนักศึกษาทั่วไป โดยเป็นการปฏิบัติจริง ซึ่งในตอนแรกอาจมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากครูฝึกไม่รู้ภาษามือ แต่ก็ได้มีการใช้รูปภาพประกอบการเขียนอธิบายจนสามารถสื่อสารกันได้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากนั้นได้มีการต่อยอดลงนามความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลให้ MUIC เป็นศูนย์ฝึกการโรงแรมให้กับคนหูหนวก และจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร

ด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า Inclusive Education เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในแง่ของความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับสังคมอย่างเต็มที่ โดยช่วยทลายอุปสรรคทางทัศนคติและวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมามองผู้พิการกันใหม่ในอีกมุมที่ว่า จริงๆ แล้วเขาสามารถอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวของเขาเอง อย่ามองว่าเขาเป็นเพียงผู้พิการ แต่ให้มองว่าเขาคือคนในสังคมอีกคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง แต่ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เฉกเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวทิ้งท้าย

หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญร่วมสัมมนา “การศึกษาและการเปลี่ยนผ่านเพื่อการมีงานทำของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ”ในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2562 เวลา 8.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารอำนวยการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พบกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศไทย “ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ”