1 ใน 3 ของชีวิตส่วนใหญ่ใช้ไปกับการทำงาน คนเราจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีเป้าหมาย ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต
ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวไว้ว่า เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด อย่างไรก็ดี “อย่าทำงานเพื่อเก็บเงินไปใช้ในห้องไอ.ซี.ยู”
“ภาวะ Burn-out” หรือ ภาวะ “หมดไฟ” จากการทำงานเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง โดยองค์การอนามัยโลก ได้จัดอยู่ในกลุ่ม International Classification of Diseases (ICD)
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ภาวะหมดไฟเป็นภัยเงียบของคนทำงาน ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกายได้หลายประการ อาทิ นอนไม่หลับขาดสมาธิ และเบื่อหน่าย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล บางรายหันไปพึ่งยาเสพติด และเกิดปัญหาทางกาย เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ และเบาหวาน พบว่ากว่าร้อยละ 60 – 80 จะต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์
“ระยะไฟตก (Brownout)” เป็นระยะที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟซึ่งเป็นที่น่าสังเกต โดยคนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน บางรายหนีความคับข้องใจ หันไปใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง จนอาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน และ “หมดใจ” ที่จะทำงานในที่สุด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำวิธีป้องกันภาวะหมดไฟจากการทำงานไม่ให้เกิดกับตัวเอง และคนในองค์กร ด้วยการปรับสู่กระบวนการทำงานที่ใช้”คุณภาพใจ” ทำงานด้วยความยืดหยุ่น ไม่ตีกรอบที่หวังผลเลิศจนเกินไป ตลอดจนให้คนทำงานได้พักผ่อนและผ่อนคลายกับกิจกรรมที่ไม่ใช่งานบ้าง โดยใช้หลัก “How To 20–20–20” คือ พักหลังทำงานไปแล้ว 20 นาที ขยับร่างกายเพื่อพักผ่อนหายใจเข้าออก 20 ครั้ง และมองความรักจากธรรมชาติห่าง 20 ฟุต
นอกจากนี้ ให้ปรับสเกลท้าทายงานยากๆ ให้มีโอกาสแก้ปัญหา โดยให้เชื่อมั่น “คุณภาพคน” มากกว่า “การตัดสินถูกผิด” และให้เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง พร้อมหมั่นฝึกฝนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ ยังกล่าวฝากทิ้งท้ายว่า ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะมา ถ้าคิดจะวางแผนแบบ New Year’s Resolutions ควรเริ่มสำรวจตัวเองเลยตั้งแต่วันนี้ โดยใช้หลักพุทธธรรม “คิดดี พูดดี และทำดี” เพื่อการเป็นคนใหม่ที่ดี โดยให้เริ่มจากการคิดวางแผนว่า 7 วันแรกของปีจะทำอะไร จากนั้นค่อยๆ ขยับไปเป็น 7 เดือน และ 7 ปี ถ้าวางแผนเริ่มต้นดี ก็จะส่งที่ยั่งยืนในระยะยาว
ซึ่งการวางแผนที่จะทำให้เรามี “ความสุขที่ยั่งยืน” นั้น อันดับแรกจะต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพตัวเอง ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ละเลยที่จะดูแลครอบครัว รู้จักเก็บออมเงิน และฝึกวิธีคิดที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในยามคับขัน
โดย คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดคอร์สออนไลน์ “กิจกรรมบำบัดสร้างความสุข” เพื่อเรียนรู้วิธีการสื่อสารตัวเองให้คิดบวก เพื่อให้เกิดพลังใจในการดำเนินชีวิต ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ฟรีที่https://mooc.mahidol.ac.th