อว. ดัน 12 โครงการนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

37

“สุวิทย์” เดินหน้าประกาศ 2563 ปี “BCG ECOMOMY YEAR ” ปีแห่งเศรษฐกิจสีเขียว เตรียมอัดงบกว่า 928 ล้านบาท ชู 12 โครงการ BCG เร่งด่วน นำนวัตกรรมต่อยอดการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ตอกย้ำแนวคิดใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดัน GDP ประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า อว. ประกาศปี2563 ปีแห่งเศรษฐกิจสีเขียว “BCG ECOMOMY YEAR”  ทุ่มงบประมาณกว่า 928 ล้านบาท จัดทำ 12 โครงการ Quick win BCG ขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจสีเขียว ด้วย BCG Economy อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยมาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 รูปแบบ ได้แก่ B- Bio economy เศรษฐกิจชีวภาพ C – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยกำหนดเป้าหมายในการสร้าง GDP ประเทศเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

“ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยมาทำลายข้อจำกัดให้เกิดการก้าวกระโดดและพัฒนาต่อยอด พร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง หลังจากที่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปีเท่านั้น”

สำหรับ 12 โครงการ Quick win BCG แบ่งออกเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย

มิติด้านการเกษตร

  • โครงการ1 ตำบล 1 ชุมชนเกษตรอัจฉริยะ (วว.) ผนึก 3 องค์กรเอกชนประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และการเลือกและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อันสามารถนำไปสู่การต่อยอดสร้างนวัตกรรมในชุมชนได้ โดยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มคุณภาพ การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร การใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร และการแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ใน 650 ตำบล ในพื้นที่ 878 อำเภอ ใน 76 จังหวัดของไทย
  • โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก (สวทช.และวว.)​ ผนึกกำลังร่วมกับผู้ส่งออกและเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ในรูปแบบจตุภาคีซึ่งประกอบด้วยบริษัทเอกชน ชุมชน มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเป็น 9,000 ล้านบาท ในปี 2563
  • โครงการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) สำหรับกลุ่มไม้ผลภาคตะวันออก ผู้ปลูกทุเรียนและมังคุดในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี (สวทช.) โครงการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ เช่น ระบบการให้น้ำตาม ความต้องการของพืช โรงเรือนอัจฉริยะ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ น้ำ สถานีตรวจวัดอากาศ เป็นต้น โดยจะดำเนินการขยายผลแบบครอบคลุมร้อยละ 80 ของพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี ซึ่งจะยกระดับการผลิตมีศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้น ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลดลง รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา ยกระดับคุณภาพของผลผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค คาดว่าจะเกิดผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
  • โครงการยกระดับอุตสาหกรรมนมไทย (สวทช.) การดำเนินการประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การจัดการฟาร์ม ชุดตรวจเชื้อโรคและชุดตรวจคุณภาพน้ำนม บรรจุภัณฑ์และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า สำหรับที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้แก่ นมอัดเม็ดเกรดพรีเมี่ยม นมผงสำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนชายแดน ซึ่งจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 6,300 ล้านบาท ภายใน 4 ปี
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศด้านเกษตรกรรม (AGRI NQI) (วว.) โครงการเพื่อยกระดับคุณภาพ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 10,000 แปลง (ในพืชอาหารที่ไม่ใช่ข้าว)
  • โครงการเพื่อขยายผลการดำเนินงานในการจัดการน้ำชุมชน ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี แผนที่น้ำตำบล ผังน้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ วิธีการติดตามสถานการณ์น้ำ จัดทำข้อมูล ข้อเท็จจริง วิเคราะห์ จนเกิดแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับภูมิสังคม โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 70 พื้นที่ ใน 76 จังหวัด ของประเทศไทย (60 พื้นที่ชุมชนแกนนำ และ 10 พื้นที่สภาเกษตรแห่งชาติ)

มิติด้านสุขภาพและการแพทย์

  • โครงการเพื่อค้นหาและผลิตตัวยาจากวัตถุดิบธรรมชาติด้วยนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation platform) ใช้ระบบการทดสอบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพแบบรวดเร็ว (High throughput screening) ในระดับห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถทดสอบสารสกัดสมุนไพรได้อย่างหลากหลาย และรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายในการนำสารออกฤทธิ์ทางยาเข้าสู่ระบบ 5,000 ชนิด ได้โครงสร้างสารที่จะเป็นตัวยา และสำหรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ขิงสู่ตลาดเชิงพาณิชย์โดยร่วมกับบริษัทโอสถอินเตอร์
  • โครงการพัฒนาชุดตรวจกรองด้านการแพทย์เชิงป้องกันสุขภาพ (Preventive Medicine) ราคาย่อมเยาว์ โครงการพัฒนา Novel Array chip สำหรับการตรวจกรองด้านการแพทย์เชิงป้องกันสุขภาพ ที่จำเพาะต่อประชากรไทยเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลิตภัณฑ์ไปยังอาเซียนภายใต้เครือข่าย Southeast Asian Pharmacogenomics Research Network (SEAPharm)

มิติด้านพลังงานและวัสดุ

  • โครงการโรงงานคัดแยกและผลิตพลังงานจากขยะครบวงจร (วว.) ขยายผลจากโรงงานที่ ตาลเดี่ยว จังหวัดสระบุรี ที่สามารถจัดการขยะชุมชนได้ครบวงจร ทั้งการคัดแยกขยะ การผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ การกำจัดกลิ่นด้วยโอโซน และสามารถผลิตแท่งเชื้อเพลิงคุณภาพสูงจากขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)
  • โครงการเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับพลังงานทางเลือกและการกำจัดขยะพิษในชุมชน (สซ.) โครงการสร้างโรงเผา/หัวพลาสมาอาร์คต้นแบบเพื่อเผาทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ขยะติดเชื้อ (Infectious waste) และการนำกลับมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าในกระบวนให้ความร้อนเพื่อเผาทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ สามารถบริหารจัดการขยะชุมชน และมีพลังงานทางเลือกผลิตใช้ได้เองในท้องถิ่น มีเป้าหมายที่แหล่งชุมชนและโรงพยาบาลรอบ ๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

มิติด้านการท่องเที่ยว

  • โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและ วทน. ช่วยฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรม (สวทช.) โครงการที่นำความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่รวบรวมไว้ นำมาสร้างเรื่องราวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

มิติด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ BCG

  • โครงการพัฒนา Thai Community Map (TCMAP) (สวทช.) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทั้งด้านการบริหารจัดการชุมชน แก้ไขปัญหาชุมชน และข้อมูลชุมชนต่างๆ รวมทั้งงานด้านวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและบริการตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรอง, การช่วยเหลือ และการติดตาม โดยในระยะแรกจะดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง จังหวัดสมุทรสงคราม หรือจังหวัดปทุมธานี หรือจังหวัดขอนแก่น และจะดำเนินการขยายผลไปสู่พื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ