หมดห่วง”ซุปเปอร์มาลาเรีย”หมอไทยเอาอยู่

85

กรมควบคุมโรค วอนคนไทยอย่าตื่นตระหนกกับซุปเปอร์มาลาเรีย หรือเชื้อมาลาเรียดื้อยา ที่ระบาดกันในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำยังไม่เป็นปัญหาในไทย

เมื่อเร็วๆนี้สำนักข่าวบีบีซีได้รายงานข่าวการระบาดของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาชนิดรุนแรง หรือซุปเปอร์มาลาเรีย ในหลายพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยการระบาดเริ่มที่ประเทศกัมพูชา ต่อมาได้ลามไปบางส่วนของประเทศไทย ลาว จนถึงเวียดนามตอนใต้ สำนักข่าวจากเมืองผู้ดียังย้ำเตือนอีกว่า การระบาดของซุปเปอร์มาลาเรียเป็น “ภัยคุกคามระดับโลกที่น่าเป็นห่วง” และเป็นโรคมาลาเรียตัวอันตรายตัวจริง ส่งผลให้ประชาชนในภูมิภาคนี้เริ่มวิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกถึงสถานการณ์การระบาดนี้ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงและเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวนี้ เนื่องจากกรมฯได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดและขณะนี้ยังไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้นในประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างมาก มีแนวทางควบคุมการระบาดของโรคนี้อย่างชัดเจน โดยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการควบคุมโรคไข้มาลาเรีย มาเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย และตั้งเป้าที่จะกำจัดโรคไข้มาลาเรียรวมถึงเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยารักษาให้หมดไปภายในปี 2567

มาตรการสำคัญดังกล่าวคือ 1.ให้ถือว่าการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาเป็นงานในระบบปกติ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่เสี่ยง 2. ค้นหาและให้การรักษาผู้ป่วย โดยมาลาเรียชุมชน มาลาเรียคลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการติดตามผลการรักษาโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียจะได้รับการคุ้มครอง และ3. ป้องกันยุงพาหะนำโรค โดยแจกมุ้งชุบสารเคมีเพื่อป้องกันยุงทุกหลังคาเรือน เป็นต้น

แม้จะมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นและแนวทางการกำจัดอย่างชัดเจน แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังอดห่วงกับโรคระบาดนี้ไม่ได้ ดังนั้น คุณหมอนักบริหารคนนี้จึงได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ซุปเปอร์มาลาเรีย หรือเชื้อมาลาเรียดื้อยานั้นคือ เชื้อปรสิตพลาสโมเดียมที่มียุงเป็นพาหะสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยารักษามาลาเรียหลายขนาน เมื่อผู้ป่วยทานยารักษาสูตรเดิมแล้วเชื้อจะไม่หมดไปจากร่างกาย สำหรับในประเทศไทยนั้นได้เปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษามาลาเรียแล้ว ซึ่งสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้

สิ่งที่คนไทยควรปฏิบัติคือ อย่าให้ถูกยุงกัดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการป่วยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ ส่วนผู้ที่อาศัยในพื้นที่อยู่แล้วหรือผู้ที่เดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้งลวด กางมุ้งนอน หรือทายากันยุง ส่วนคนที่ไปท่องเที่ยวมาอย่างเช่นไปป่า หากกลับมาแล้วพบว่า ตัวเองมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหนาวและเหงื่อออก ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และขอให้แจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปพักค้างคืนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังต้องรับประทานยาให้ครบ ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะอาจได้ยาปลอมหากไปพบแพทย์ช้าผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย อาจเสียชีวิตได้