อว. เกลี่ยงบด่วน ระดมนวัตกรรมการแพทย์ รับวิกฤตโควิด-19

40

สั่งเกลี่ยงบ อว. ดึง 3,000 ล้านกู้วิกฤติโควิด-19 พร้อมตั้งคณะทำงานรับมือ ทั้งคณะแพทย์ วิศวฯระดมนวัตกรรมการแพทย์สู้ ทั้งเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย -หมวกปรับแรงดันสำหรับห้องผ่าตัด -หน้ากากN95 -ชุดป้องกัน-เครื่องช่วยหายใจ-ห้องควบคุมความดันลบ-โรงพยาบาลสนาม รองรับสถานการณ์วิกฤตขั้นสุด

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ผู้บริหาร อว.เกลี่ยงบประมาณภายใน อว.จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย เกลี่ยได้มาแล้ว 2,000 ล้านบาท และจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อปลดล็อคปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานการเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดพร้อมทั้งสั่งการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดของ อว. และเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบจตุรภาคี ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม และ อว. ในการพัฒนาและผลิตด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หน้ากาก N95 ชุด PPE ห้องควบคุมความดันลบ โรงพยาบาลสนาม/เปลขนย้ายและเครื่องช่วยหายใจ

ด้าน ผศ.อนุแสง จิตสมเกษม  รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า หน่วยงานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์วิชรพยาบาล มีนวัตกรรม 4 ตัวที่มีการผลิตออกมาใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย นวัตกรรมแรก คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ปรับมาจากห้องปลอดเชื้อที่ใช้กับคนไข้วัณโรค ปัจจุบันผลิตออกมาแล้ว 11 ตัว ใช้ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 2 ตัว และแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่น ราคาประมาณ 1 แสนกว่าบาท พร้อมทั้งเตรียมการต่อยอดนำนวัตกรรมโดยได้ประสานบริษัท ปตท. และฮอนด้า ในการนำต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ไปผลิตต่อ  โดยขณะนี้ ปตท. สามารถผลิตกล่อง  HEPA Filter ได้เอง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงอาจมีการปรับเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วสามารถผ่านมาตรฐานวิศวกรรมสถาน ก็ถือว่าใช้งานได้คาดว่าจะใช้เวลาการผลิตราว 2 เดือน ในการผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ออกมาใช้งานได้ถึง 200  ตัว ก็คาดว่าจะเพียงพอต่อการใช้งานทั้งประเทศ

นวัตกรรมที่ 2  หมวกปรับแรงดันบวกสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด(Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรง   ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาราว 5 หมื่นบาท แต่คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถผลิตได้ด้วยงบประมาณเพียง 2 พันบาท มีจุดต่างเพียงแค่วัสดุคลุมหมวกที่เป็นผ้าใบ แต่คุณภาพการใช้งานไม่ต่างกัน เบื้องต้นสามารถผลิตได้ 300-500  ตัว  คาดว่ามีความต้องการใช้ 20 ตัวต่อหนึ่งโรงพยาบาล รวมความต้องการอยู่ในราว 1,000 ตัว  โดยหากมีการร่วมมือในการผลิตจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน  ก็สามารถรองรับความต้องการใช้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายๆ โรงพยาบาลเริ่มผลิตหลังจากคณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาลเปิดตัวนวัตกรรมนี้ออกไป

ผศ.อนุแสง กล่าวต่อว่า นวัตกรรมที่ 3  หน้ากากอนามัยไส้กรอง N99  โดยการหล่อหน้ากากซิลิโคนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย  ต่อเข้ากับ HEPA Filter ของเครื่องช่วยหายใจ  ยึดติดให้แนบหน้าด้วยยาง 2 เส้นเช่นเดียวกับหน้ากาก N95  โดยมีต้นทุนในการหล่อหน้ากากซิลิโคนเพียง 100-200 บาท  ขณะที่ HEPA Filter ปัจจุบันยังต้องนำเข้า แต่อนาคตประเทศจะสามารถผลิตได้เอง ก็จะทำให้ต้นทุนรวมลดต่ำลง โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีกำลังการผลิตราว 200 ชิ้นต่อวัน  คาดว่า ภายในเวลา 1 สัปดาห์สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด -19 โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ยังขาดแคลน

และ นวัตกรรมที่ 4 ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE เป็นนวัตกรรมการผลิตชุดป้องกันจากเกรด 4 ขึ้นเป็นเกรด 5 หรือ Medical Grade ที่เปลี่ยนวัสดุจากไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นพลาสติกสปันบอนด์ที่เป็น  Polypropylene  ที่สามารถกันน้ำได้  โดยได้รับการทดสอบจากสถาบันบำราศนราดูรว่าสามารถใช้ได้ไม่ต่างจากชุดป้องกันเกรด 5  โดยต้นทุนของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลจะอยู่ในราวชุดละกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับความร่วมมือกับ พีทีทีจีซี และไออาร์พีซี 2 บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของเมืองไทย สนับสนุนวัสดุพลาสติกในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล คาดว่าจะสามารถผลิตเบื้องต้นราว 500-2,000 ตัว   โดยมีความต้องการอยู่ราวแสนตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลอีกส่วนสำคัญคือ การเย็บชุดที่ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ปิดกิจการก็อาจทำให้การผลิตล่าช้า