จากงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในพื้นที่ที่ประชากรได้รับ PM2.5 อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าพื้นที่อื่นเพียง 1 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร มีผู้ป่วย Covid-19 เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 15
นั่นหมายความว่าในบริเวณที่มี PM2.5 สูง มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19 เสียชีวิตมากกว่าปกติ เนื่องจาก PM2.5 มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เชื้อไวรัส Covid-19 ทำลายปอดได้รุนแรงมากกว่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดจากปัญหาการจราจร การเผาไหม้เชื้อเพลิงในยานพาหนะ การประกอบอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง และไฟป่า จนเมื่อเกิดสถานการณ์ Covid-19 และได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งต่อมาให้ใช้เป็นการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) การรณรงค์ให้ทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ตลอดจนการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากเคหสถานตามพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด พบว่าเป็นการส่งผลดีทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ ส่งผลดีต่อการกระจายตัวของ PM2.5 ทำให้การยกตัวและไหลเวียนของอากาศเกิดได้ดี ช่วยพัดพาและลดการสะสมของฝุ่นละอองไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิตกกันในกลุ่มนักวิชาการสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อปัญหา Covid-19 บรรเทาไปแล้ว และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ กิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิด PM2.5 จะกลับมาอีกครั้ง หากไม่มีมาตรการใดๆ มาป้องกันรองรับ
N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งแบบใช้ทางการแพทย์ และกรองฝุ่น PM2.5 โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่า หน้ากาก N95 ชนิดที่ใช้กรองฝุ่นไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ เนื่องจากมีอนุภาคที่เล็กกว่ามาก โดยฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในขณะที่เชื้อไวรัส Covid-19 มีขนาดอนุภาคเพียง 0.05-0.2 ไมครอน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงทำให้เกิดโจทย์วิจัยว่าจะทำอย่างไรให้หน้ากาก N95 ใช้กรองได้ดีทั้งฝุ่นและเชื้อโรค
ขณะนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยด้านวัสดุที่จะมาใช้ผลิตหน้ากาก N95 การพัฒนาแผ่นกรองจากวัสดุบางชนิดที่จะมาใช้กับหน้ากาก N95 รวมถึงการออกแบบและจำลองทางวิศวกรรมศาสตร์ในการออกแบบหน้ากาก N95 ที่เหมาะสม รวมไปถึงการร่วมวิจัยแบบสหสาขาวิชา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ด้วย
“ตอนนี้เรารู้แล้วว่า Social Distancing/Physical Distancing และ Work From Home สามารถช่วยลดปัญหา PM2.5 ได้ เพราะฉะนั้น หากเรายังทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิด PM2.5 เหมือนเดิม และยังใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม แน่นอนว่าปัญหา PM2.5 ก็คงต้องกลับมาเหมือนเดิม
ถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องคิดเตรียมหามาตรการมารองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเราหวังให้นวัตกรรมการพัฒนาออกแบบหน้ากาก N95 มาช่วยตอบโจทย์ และไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขอเพียงคนไทยมีสติและกำลังใจ จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ..เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย