“สู้!โควิด-19 ไปด้วยกัน” สสส.มอบชุดเครื่องมือสู่ชุมชน

10

เผยต้นแบบชุดเครื่องมือ สสส. “สู้!โควิด-19 ไปด้วยกัน” นำร่อง 10 จังหวัด เน้นกลุ่มเสี่ยง-เปราะบางในชุมชนแออัด “อนุทิน” ฝาก สสส. เดินหน้าสร้างสังคมสุขภาวะหลังวิกฤติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธานส่งมอบชุดเครื่องมือดูแลตนเอง “สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน” ที่ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพัฒนาต้นแบบการสนับสนุนข้อมูลการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ทั้งในระดับชุมชน ตำบล โดยชุดเครื่องมือดูแลตนเอง ประกอบด้วย คู่มือดูแลตนเอง, เครื่องมือจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อาทิ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ปรอทวัดไข้ หน้ากากผ้ามัสลิน

นายอนุทิน กล่าวว่า สสส. ได้จัดทำชุดเครื่องมือดูแลตนเองฉบับประชาชน ซึ่งนำข้อมูลทั้งด้านการป้องกันตนเอง ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่กักตัว การดูแลเด็กเล็ก วิธีการสังเกตตนเอง ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ดูแลอาคารชุด หอพัก คอนโด ฯลฯ อธิบายด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนทั่วประเทศ ในการเฝ้าระวังตนเอง ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน ตำบล และจังหวัด โดยส่งมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นำร่องใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครนายก นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส สามารถนำไปเป็นสื่อต้นแบบที่และผลิตซ้ำตามบริบทของพื้นที่ได้ เพื่อกระจายผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์กักตัว โดยขอให้เน้นสื่อสาร ทำความเข้าใจ และส่งต่อให้ถึงเครือข่ายคนไร้บ้าน และชุมชนแออัด เป็นอันดับแรกก่อน โดยภายในชุดเครื่องมือฯ นอกจากมีคู่มือในการดูแลตนเองแล้ว ยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ และแชมพู เป็นต้น โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน อาทิ บ.ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
​“สถานการณ์ในวันนี้เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนด ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การจำกัดพื้นที่, การจำกัดการเข้าออกของต่างชาติ ความทุ่มเทและทำงานของเต็มที่ในการรับมือโรคระบาดของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยกระชับพื้นที่และให้ผลลัพธ์ในทิศทางที่ดี เชื่อว่าเมื่อคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ เราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ อีกทั้งเชื่อว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้คนไทยจะให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างถูกสุขอนามัย และปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ ดังนั้นการดำเนินงานในก้าวต่อไปของ สสส. และภาคีเครือข่าย จะต้องเป็นหนึ่งในแกนหลักเพื่อสนับสนุนการปรับวิถีชีวิตแบบใหม่ สร้างสังคมสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง การติดต่อของเชื้อโรคอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับที่ สสส.รณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี” นายอนุทิน กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่น 55 แห่ง แต่ละแห่งมีเครือข่ายแห่งละ 15-20 ตำบล รวม 155 ตำบล ทำแนวทางเฝ้าระวัง ควบคุมและกำหนด “มาตรการชุมชน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19” ซึ่งชุดคู่มือนี้ จะเป็นแนวทางในการจัดการระดับชุมชน ครัวเรือน บุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตนของผู้ที่มีความเสี่ยง และครอบครัวผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เครือข่ายคนจนเมือง คนไร้บ้าน ซึ่งเครือข่าย สสส. ได้ประสานเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้ เพื่อส่งต่อชุดข้อมูลการดูแลตนเอง รวมทั้งการผลิตสื่อที่สอดคล้องกับกลุ่มประชากร อาทิ แรงงานต่างด้าว ชนเผ่า ผู้พิการ ในภาษาเมียนมาร์ ลาว เขมร ยาวี ภาษมือ ภาษาชาติพันธ์ เช่น ลาหู่ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ