อดีตเด็กเกเรสู่ มือปราบไข้เลือดออก “รศ.นสพ.ดร. พงศ์ราม รามสูต”

4485

รู้ไหม หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในปี 2568 พวกเราก็จะมียารักษาไข้เลือดออกกันแล้ว ฉีดแล้วหาย ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป เบื้องหลังการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้มาจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มุ่งมั่นและคิดค้นจนพบวิธีรักษาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ณ ขณะนี้ ทั่วโลกยังอยู่ในความโกลาหลกับเจ้าไวรัสตัวร้ายที่ชื่อ COVID-19 ที่ฆ่าชีวิตผู้คนไปมากมาย จนลืมไปว่ายังมีไวรัสอีกตัวหนึ่งที่ชื่อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน เชื้อของมันทำให้พวกเราเป็นไข้เลือดออก รักษาไม่ทันก็ถึงตาย โดยมียุงลายเป็นพาหะ ตามข้อมูลของอาจารย์พงศ์ราม ที่อ้างอิงตาม www.healthmap .org บอกกับเราว่า มีประชากรโลกราว 3,900 ล้านคนต่อปี ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเดงกี่ และมีประชากรทั่วโลกราว 100 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ที่ติดเชื้อจากเจ้าไวรัสตัวนี้ และมีคนเสียชีวิตถึง 30,000 คนต่อปีอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยก็อยู่ในความเสี่ยง สถิติคนตายสูงสุดที่บันทึกไว้ก็มากกว่า 3,000 คนต่อปี ที่เป็นข่าวดังๆก็มีพระเอกดัง ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ในปี 2559 พระเอกอารมณ์ดีเสียชีวิตจากไข้เลือดออกขั้นรุนแรง มีอาการหนักคือ เกล็ดเลือดต่ำมาก มีอาการแทรกซ้อน มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญได้

ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่เฉพาะสามารถรักษาโรคนี้ได้ (จริงๆมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันไวรัสชนิดนี้ครบได้ 4 สายพันธุ์ 100% ทำให้จึงไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไรและไม่มีคำแนะนำให้ใช้)

“ผมดีใจมากเลยครับกับการค้นพบวิธีการรักษา” อาจารย์ พงศ์ราม บอกกับทีม The Balance อย่างอารมณ์ดี ทั้งนี้ การค้นพบของอาจารย์อยู่ระหว่างนำไปผลิตเป็นยาเชิงอุตสาหกรรม มีบริษัทคิดค้นยาแห่งหนึ่งของสหรัฐฯรับหน้าที่นี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องผ่านด่านทดสอบมากมาย ใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อให้มั่นใจว่า ยาชนิดนี้ไม่มีผลอันตรายข้างเคียงกับชีวิตมนุษย์และสามารถรักษาได้จริงๆเหมือนกับที่ได้ค้นพบในห้องวิจัย

7 ปีของการคิดค้น
แม้โรคไข้เลือดเป็นอีกภัยที่คุกคามชีวิตมนุษย์ แต่ก็เป็นโรคติดเชื้อที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยสนใจทำการวิจัยมากมายสักเท่าไร อาจเป็นเพราะไม่ได้เป็นโรคของคนรวย แต่สำหรับอาจารย์พงศ์รามแล้วคิดต่าง การพิชิตโรคนี้เป็นงานที่ท้าทายและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ดังนั้นได้เริ่มทำการวิจัยหาทางรักษาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2552 ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในที่สุดก็ค้นพบ “ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออก” อีก 7 ปีต่อมา

แนวทางการวิจัยของอาจารย์คือ สร้างแอนติบอดีจากมนุษย์ (NhuMAb) โดยคัดเลือกจากเซลล์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกระยะเฉียบพลันและผู้ป่วยระยะฟื้นไข้ เป็นแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเต็งกี่ได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ จากนั้นได้ทดสอบในหนูและลิง ก็พบว่า NhuMAb สามารถเพิ่มการรอดชีวิตของหนูและสามารถทำลายไวรัสไข้เลือดออกเต็งกี่ในกระแสเลือดของลิงได้หมดภายใน 2 วัน

หลายคนอาจมองภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร อธิบายได้ง่ายๆว่า เมื่อยุงลายยุงลายกัดเรา มันก็ปล่อยเชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด ตัวไวรัสมันอยู่โดดๆไม่ได้ มันต้องไปอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น มันจึงได้จับเม็ดเลือดขาวพวกเรา แล้วปล่อยสารพันธุ์กรรมเข้าไป โดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างเชื้อเป็นล้านๆตัว ทำให้เราไม่สบาย เมื่อถึงเวลาเรารักษา คุณหมอก็จะใช้ยาชีวภาพชื่อ แอนติบอดี ซึ่งมีรูปร่างเป็นตัววาย มันจะไปล้อมรอบไวรัส ทำให้ไวรัสเข้าเซลล์เราไม่ได้ จำนวนของมันจึงลดลง แล้วตายไปในที่สุด

ปัจจุบัน การค้นพบนี้ได้ถูกจดสิทธิบัตรใน 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย เพื่อคุ้มครองการค้นพบและป้องกันการละเมิดที่จะนำไปใช้ในเชิงการค้า
“เป็นครั้งแรกของโลก ที่มียาชีวภาพรักษาไข้เลือดออกได้สำเร็จ” อาจารย์พงศ์ราม บอก พร้อมรอยยิ้ม

คาด 2568 เปิดตัวยา
อาจารย์พงศ์ราม เริ่มวิจัยการรักษาไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2558 จากนั้น งานวิจัยของอาจารย์ก็ได้รับความสนใจจากบริษัท BSV Bio-Sciences Inc. ในปี 2561 บริษัทพัฒนายาจากสหรัฐฯ ที่ต้องการจะทำตลาดไข้เลือดออกอยู่พอดีเข้ามารับช่วงต่อ เพื่อเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นยารักษาโรคในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทแห่งนี้ได้รวบรวมแอนติบอดีจากนักวิจัยทั่วโลกมาทดสอบกับหนูดัดแปลงพันธุกรรม และพบว่างานวิจัยของอาจารย์ได้ผลดีที่สุด

ความคืบหน้าล่าสุดก็คือ บริษัทแห่งนี้ได้เซ็นสัญญา licensing กับมหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร (อาจารย์พงศ์รามอยู่ในฐานะผู้ประดิษฐ์) ในเดือนตุลาคม 2562 เป็นกระบวนการการทดลองหาปริมาณโดสที่ใช้กับคน โดยก่อนหน้านี้ได้ทดลองกับหนู จนสามารถรักษาจนหายได้ โดยจะเริ่มทำการทดลองตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ครั้งที่ 1 ทดลองกับคนที่เป็นไข้เลือดออกจำนวน 50 ขึ้นขึ้นไปและจากนี้ก็เพิ่มจำนวนเป็น 500 คนขึ้นไป โดยใช้ประเทศอินเดียเป็นฐานการทดลองครั้งนี้

ถ้าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คาดปี 2568 ก็จะเปิดตัวยารักษาไข้เลือดออกอย่างเป็นทางการ ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะไม่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเพื่อรักษาอีกต่อไป เพียงแค่ฉีดยาเข็มเดียวก็หาย ไข้ก็จะลด เกล็ดเลือดก็จะขึ้น เหมือนโรคอื่นทั่วไป หากเทียบกับเมื่อก่อนต้องนอนโรงพยาบาลราว 2 อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับอาการที่มี

“จากเด็กเกเร” สู่ “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ”
อาจารย์พงศ์รามมีบิดาเป็นแพทย์ มารดาทำงานด้านสาธารณสุข ทั้งคู่อยากให้ลูกชายเข้าสู่เส้นทางทางการแพทย์ แต่อาจารย์บอกว่า ตอนเป็นวัยรุ่น เขาเองก็ไม่ชอบงานสายนี้สักเท่าไร จริงๆชอบเรียนทางด้านสังคมศาสตร์ อย่างวิชาทางด้านปรัชญา ประกอบกับตัวเขาเองก็เป็นเด็กเกเร รักสนุก สอบได้ที่สุดท้ายของห้อง อย่างไรก็ตาม ก็อยากเห็นบิดามารดามีความสุข เขาจึงตัดสินใจเลือกสอบเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ แต่ก็มาติดที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แทน ขณะเรียน ชีวิตอาจารย์ดูจะบู๊ไม่เบา ตอนอยู่ปี 5-6 ต้องไปย้ายเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อาจารย์สนุกกับชีวิตอิสระอย่างเต็มที่ สนุกสนานกับเพื่อนต่างคณะ เล่นดนตรีกับวงของคณะอดหลับอดนอนสังสรรค์กับเพื่อน ทำให้อาจารย์ต้องจบช้าไปอีกปี และจบด้วยเกรดเฉลี่ย 2.00

หลังจากทำงานที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สักระยะ อาจารย์ลาเป็นเรียนต่อปริญญาโทที่ Swedish University of Agricultural Sciences ประเทศสวีเดน สาขาจุลชีววิทยา และปริญญาเอก สาขาเดิม ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้อาจารย์ยังมีปริญญาโทด้านสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ตุนไว้อีกใบ เพื่อเติมเต็มความรู้อย่างรอบด้านในงานที่รับผิดชอบ

“ได้อย่างไรวะ” อาจารย์ระเบิดเสียงหัวเราะเมื่อพูดถึงอดีต เพราะเกรดเฉลี่ยเพียง 2.00 สมัครเรียนต่อปริญญาโทที่ไหนคงไม่มีใครรับ ดังนั้น เขาจึงมองมหาวิทยาลัยที่ไม่เอาเกรด และพบว่า มีมหาวิทยาลัย Swedish University of Agricultural Sciences ประเทศสวีเดนเปิดรับ อาจารย์จึงได้ร่อนใบสมัครไปและได้เรียนต่อสมใจ และเลือกเรียนสาขาจุลชีววิทยา เพื่อมุ่งเรียนเรื่องเชื้อโรคจริงๆ ต้องการนำความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นมา ไปต่อยอดสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆให้เกิดขึ้น

อาจารย์ค้นพบตัวเองตอนอายุ 36 ปี ขณะศึกษาปริญญาเอกว่า ชอบเรื่อง แอนติบอดีแบบสุดๆ และตั้งใจว่า จะเอาดีในเรื่องนี้ไห้ได้ และความคิดนี้เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของอาจารย์ก็ว่าได้ เมื่ออยู่มาวันหนึ่งในปี 2552 ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นจากสถาบันโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยโอซาก้า มาพูดคุยกับคณบดีของคณะเพื่อทำวิจัยเรื่องไข้เลือดออก โดยศึกษาเรื่องแอนติบอดี และชักชวนนักวิจัยเข้าร่วม อาจารย์พงศ์รามตอบตกลงโดยไม่ลังเลเลย

ความพยายามของอาจารย์ไม่สูญเปล่าเลย การค้นพบครั้งนี้ทำให้อาจารย์กวาดรางวัลรวม 24 รางวัลจากเวทีต่างๆทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่รางวัลสูงสุดที่อาจารย์ภูมิใจมากที่สุดคือ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในปี 2563 รางวัลนี้อาจารย์บอกว่า ไม่เพียงที่ทำให้เขามีความสุข แต่รวมไปถึงบิดามารดาด้วย ที่หวังมานานแล้ว ที่อยากเห็นลูกชายจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ปัจจุบันอาจารย์อายุ 57 ปี ยังคงมีความสุขกับการทำงาน และเมื่อถามว่า ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากอะไร อาจารย์ก็ตอบอย่างถ่อมตัวว่า เป็นเพราะ “ความโชคดี” มากกว่า เพราะระหว่างการทำวิจัย อาจารย์ได้คนที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ที่มีเม็ดเลือดขาวดีที่สุด มันสร้างแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสได้ นอกจากนี้ คงเป็นความโชคดีที่บ้านเรามีคนไข้เลือดออกมาก จึงมีโอกาสเลือกคนได้มาก เพื่อนำมาศึกษา

เมื่อถามความสำเร็จในวันนี้ อาจารย์ก็บอกว่า เดินมาไกลกว่าที่คิดในฐานะที่เป็นเด็กเกเรคนหนึ่ง “ความสนุกที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นความสุขที่ผมเลือก แม้จะเมาบ้าง สนุกกับการดื่มบ้าง เฮฮากับเพื่อน แต่ทุกครั้งผมจะมี “ภาพ” อยู่ในหัวเสมอว่า “เราต้องไปได้ดีกว่านี้ ต้องเดินไปข้างหน้า” ความสุขแบบนี้เพียงผ่านเข้าแบบแล้วผ่านออกไป”

“ผมมีเป้าหมายชีวิต มีความฝัน เห็นภาพฝันชัดเจนตลอดว่า นี่คืออนาคต พอเห็นภาพฝัน มันก็จะอยู่ใต้จิตสำนึก มันจะอยู่กับเราตลอด ทำอะไรก็จะบอกว่า นี่คือวันของเรา ต้องทำมัน ทำทุกวัน มุ่งมั่นทำ ทำๆๆๆๆ ทำมันจนให้ความฝันเป็นจริง”

นี่คือชีวิตของอดีตนักเรียนเกเร เกรดเฉลี่ย 2.00 ที่มุ่งมานะจนชนะอุปสรรคทั้งปวง จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ที่เด็กรุ่นหลังควรศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง