ส่องเทรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพวิถีเกษตรอินทรีย์ ชีวิตดี๊ดี สังคมสุขใจ

147

แม้สุขภาพดีอาจจะหาซื้อไม่ได้ แต่การลงทุนกับสุขภาพ ด้วยการจับจ่ายไปกับสินค้าที่ดีต่อร่างกาย อย่างผักผลไม้ตามวิถีเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าจากธรรมชาติที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ก็เป็นอีกแนวทาง สำหรับการลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต

เราอาจจะเคยเห็นผู้ป่วยหรือผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคภัยต่างๆ เช่น มะเร็ง ทั้งๆที่หลายคนเห็นว่า เขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงเลย เพราะสาเหตุของโรคภัยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน  ซึ่งในอาหารเหล่านั้นอาจจะทำให้เกิดการสะสมของสารพิษหรือสารเคมีต่างๆ ที่มาจากกระบวนการผลิต

วิถีของสังคมสุขใจจึงเกิดขึ้น ภายใต้จุดเริ่มต้นของ “สามพรานโมเดล” ซึ่งปัจจุบัน เลือกรับซื้อและผลิตวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ในเครือข่าย พร้อมทั้งผลิตและวางระบบการจัดการภายใน “สามพราน ริเวอร์ไซด์” จ.นครปฐม กลายเป็นต้นแบบที่เกิดเครือข่ายที่ขยายตัวในวงกว้าง

ที่สามพราน ริเวอร์ไซด์ จะมีตลาดนัดสุขใจ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เกษตรกรปลอดสารเคมีทั้งหลาย ก็จะนำสินค้าทั้งของกินของใช้มาวางขาย และในแต่ละปีก็จะมีการจัดงานใหญ่ “สังคมสุขใจ” จากการรวมตัวของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กว่า 200 ร้านค้าจากทั่วประเทศ

ซึ่งงานนี้เป็นความร่วมมือของ ททท. มูลนิธิสังคมสุขใจ และจังหวัดนครปฐม โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 มีสินค้าให้เลือกหลาย ไม่เฉพาะพืชผัก แต่มีการต่อยอดภูมิปัญญามาผลิตเป็นสินค้าที่น่าสนใจอีกหลายรายการ

จากการเดินชมสินค้าภายในงาน นอกจากจะเห็นพ่อบ้านแม่บ้านเข้ามาจับจ่ายเลือกซื้อผักปลอดสารเคมี ฝีมือชาวบ้านปลูกเอง เรียกว่าหอบกันเป็นกระบุง เพราะราคาที่ไม่ผ่านคนกลาง ย่อมเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากยิ่งขึ้น เดิมทีเราอาจจะโอดครวญกันว่า สินค้าออร์แกนิค เป็นสินค้าสำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ ด้วยกระบวนการที่พิถีพิถันมากกว่า

แต่หากมีการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคมากยิ่งขึ้น ราคาก็จะเป็นไปตามกลไก ซึ่งเมืองไทยเองมีความพร้อมในด้านการเกษตรอยู่มาก เพียงแค่ปรับตัวเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่แพร่หลาย เท่านั้นสังคมสุขใจก็จะขยายตัวในวงกว้าง แถมยังส่งผลถึงภาวะเศรษฐกิจ เพราะสินค้าออร์แกนิค เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

นอกจากชุมชนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมออกร้านแล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่เดินในแนวทางเกษตรอินทรีย์มาออกร้าน เกิดรายได้พิเศษให้กับนักเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านคลองใหม่ จ.นครปฐม ซึ่งวันนี้เราเห็นเด็กๆ ขะมักเขม้นกับการทำขนมที่ผลิตจากแป้งกล้วย ซึ่งเป็นการคิดค้นจากคุณครูเกษียณ “อุบล ปิ่นเวหา” มาราว 20 ปีแล้ว วันนี้มีคุณครู “ศุภากร จันทร์สุข” เป็นผู้สานต่อ

แม้จะเกิดขึ้นมานาน แต่แป้งที่ทำจากกล้วย ยังอาศัยการผลิตด้วยมือทุกขั้นตอน ทำให้ยังไม่สามารถขยายผลผลิตไปได้มากนัก จะมีให้ชิมกันเฉพาะในตลาดสุขใจทุกวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น ในโรงเรียนยังมีการปลูกผักและกิจกรรมตามวิถีพอเพียงให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ถือเป็นแนวทางที่น่ารัก ปลูกฝังให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

“น้องปลื้ม” หนึ่งในนักเรียนตัวน้อยบ้านคลองใหม่ บอกกับเราว่า รู้สึกสนุกกับกิจกรรมทำขนมจากแป้งกล้วย ทั้งโดนัท ทองม้วน และซาเคบะ และชอบที่จะมาร่วมกิจกรรม เพราะโตขึ้นเขาเองก็อยากเป็นเชฟ

เอ๊ะ! ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร บ้างก็ว่าเป็นขนมมาจากญีปุ่นหรือเปล่า น้องปลื้มก็อธิบายให้ฟังอย่างแจ่มชัดว่า “ซา” มาจากซาลาเปา “เค” มาจากเค้ก และ “บะ” มาจาก บะนาน่า เป็นการรวมตัวของแป้งกล้วยที่นำมาทำให้มีความนุ่มแบบเค้กแต่คล้ายกับซาลาเปานั่นเอง โดยจะมีใส้หมูสับปั้นเป็นก้อนพร้อมวัตถุดิบธรรมชาติอื่นๆ มาเพิ่มรสชาติ

ฟังแล้วยิ่งน่าทึ่ง เพราะนอกจากแป้งกล้วยจะนำมาทำเป็นของว่างหน้าตาน่ารับประทานนี้แล้ว ตัวผักที่โปะมาบนซาเคบะ ยังมาจากคะน้าเม็กซิโก ซึ่งขึ้นอยู่ในบริเวณโรงเรียน ส่วนซอสที่ใช้เหยาะเพิ่มรสชาติก็มาจากการใช้กล้วยผสมกับพริกสดอีกด้วย

เดินไปเดินมาก็ยังพบสินค้าที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิ สมุนไพรสระผมมะกรูดใบหมี่ ที่เข้มข้นได้ใจ ที่ผสมใบหมี่เข้าไปเพราะจะทำให้ผมนุ่ม ไม่กระด้างเหมือนการสระด้วยด้วยมะกรูดเพียงอย่างเดียว

สะดุดตากับร้าน “คนเอาถ่าน” ที่มีผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถ่านไม้ไผ่ ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลบางไทรป่า จ.นครปฐม  ทั้งสบู่ถ่านไม้ไผ่ผสมว่านหางจระเข้และเปลือกมังคุด แชมพูถ่านไม้ผสมว่านหางจระเข้ ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง ที่สำคัญคือผ่านการรับรองโดย อย. แล้วด้วย ส่วนชื่อคนเอาถ่าน ก็มาจากคุณพี่นรชัย ซึ่งเป็นผู้คิดและผลิตสินค้าจากถ่านไม้ไผ่ออกมา บอกเราแกมขำๆ ว่า มาจากความไม่เอาถ่านของตัวเองในอดีต และหันมาเอาถ่าน และใช้ถ่านให้เป็นประโยชน์ในวันนี้

เรายังเห็นการต่อยอดสินค้าจากภูมิปัญญาและยกระดับให้ราคาผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมังคุดผสมมะเม่า ตรา ดร.โจ เจ้าของรางวัลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายรางวัล ผลิตภัณฑ์ที่ผัก ผลไม้ อย่าง ลำใยหรือลิ้นจี่ ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติอีกเป็นร้อยรายการ รวมทั้งเคยออร์แกนิค ที่ผลิตตามกระบวนการปลอดสารเคมีรวมทั้งสารกันบูด

นับเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานและสุขใจที่ได้เห็นเกษตรอินทรีย์เมืองไทยขยายตัวในวงกว้าง ทำให้คนมีสุขภาพที่ดี มีรายได้ และยังส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะเกษตรอินทรีย์ จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

ใครที่สนใจก็ไปแวะชมสินค้าเกษตรอินทรีย์และการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่น่าสนใจ ที่ตลาดสุขใจ ที่สามพราน ริเวอร์ไซด์ แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่างานประจำปี แต่ก็เต็มไปด้วยความตั้งใจ ใครที่อยากเจอน้องปลื้มหนุ่มน้อยช่างเจรจาก็ไปพบเขาได้ หากตรงกับวันที่น้องปลื้มเข้าเวรขายของที่ตลาด ก็นับว่าได้กระทบใหล่ว่าที่เชฟในอนาคตอีกด้วย

*สำหรับผู้สนใจต้องการเชื่อมโยง ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน บนพื้นฐานธุรกิจที่เป็นธรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ติดต่อขอรายละเอียดได้ มูลนิธิสังคมสุขใจ โทร 034-322588-93 หรือ Facebook/สามพรานโมเดล